ในตอนที่ 1 เราได้ทราบเกี่ยวกับภาพรวมและนโยบายด้านการเกษตรซึ่งจีนกำลังผลักดันกันไปแล้ว ในตอนนี้เราจะมาเจาะลึกกันถึงพื้นที่ในมณฑลฝูเจี้ยนที่มีศักยภาพในด้านเกษตรอัจฉริยะกันบ้าง แต่ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า อุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลฝูเจี้ยนส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล เช่น เมืองจางโจว เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง โดยอุตสาหกรรมการเกษตรของเมืองจางโจวมีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล และเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล ขณะที่เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง มีมูลค่าการผลิตทางการเกษตรสูงกว่า 5 หมื่นล้านหยวน
เมืองจางโจว เป็นหนึ่งในฐานการส่งออกสินค้าทางการเกษตรแห่งชาติ โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างรายได้หลัก เช่น ผลไม้และไม้ดอก โดยเฉพาะ กล้วยไม้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล พืชผักและเห็ด มีปริมาณการผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจางโจวมุ่งพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะควบคู่กับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยร่วมมือกับบริษัท Fujian Lvling Agricultural Technology จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนา solar cell ติดตั้งแผง solar cell บนหลังคาโรงเรือนพืชผัก และฟาร์มอัจฉริยะต่าง ๆ รวมทั้งติดตั้งระบบผลิตไฟที่เชื่อมต่อกับกริด solar cell สำหรับจ่ายไฟให้กับระบบปรับอากาศในโรงเรือนแทนการใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐ ตัวอย่างโครงการสำคัญ เช่น โครงการเกษตรอัจฉริยะ solar cell บนพื้นที่ 500 ไร่ บนเนินเขาที่อำเภอจางผู่ของเมืองจางโจว ซึ่งสามารถรองรับแสงแดดเฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,220 ชั่วโมง ส่งผลให้ เมืองจางโจวกลายเป็นฐานสาธิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเกษตรกรรมที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน
โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะควบคุมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ 500 ไร่ที่อำเภอจางผู่
เมืองหนิงเต๋อ เป็นหนึ่งในฐานการประมงขนาดใหญ่ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมูลค่าการผลิตสินค้าประมงสูงกว่า 3.43 ล้านหยวนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของมูลค่าสินค้าประมงทั้งมณฑล ปัจจุบัน รัฐบาลหนิงเต๋อให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประมงอัจฉริยะ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเล การติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ให้ ครอบคลุมพื้นที่ทะเลหลายส่วน การสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงนอกชายฝั่งและประมงน้ำลึกอย่างยั่งยืน และครบวงจรด้วยการสร้างระบบสังเกตการณ์ทางทะเลโดยใช้เทคโนโลยี 3 มิติ และดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลระบบนิเวศสัตว์น้ำ และทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรวมทั้งการสำรวจทรัพยากร การป้องกันและบรรเทาภัย ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจทางมหาสมุทร
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 เมืองหนิงเต๋อร่วมมือกับบริษัท Huawei ในการก่อสร้างสถานีส่งสัญญาณ 5G ทั้งหมด 300 แห่งในพื้นที่ทะเล 50 กิโลเมตร และติดตั้งระบบดาวเทียมเป่ยโต่วบนเรือประมงเพื่อติดตามและตรวจจับการทำงานของเรือประมงนอกชายฝั่งในทุกสภาพอากาศ
ท่าเรือประมงอัจฉริยะ 5G เมืองหนิงเต๋อ ใช้เทคโนโลยี Cloud Computing IoT และ Big Data ในยกระดับกระชังเลี้ยงปลาทะเล
นอกจากนี้ รัฐบาลหนิงเต๋อส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืนและพึงพาตนเอง เช่น การปรับระบบการเลี้ยงปลาในกระชังภายใต้หลังคา solar cell และการกักเก็บพลังงานลมแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลแทนการใช้ไฟฟ้าจากการจ่ายไฟของภาครัฐ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลฝูเจี้ยนได้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะกับต่างประเทศ หนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจ คือ ความร่วมมือระหว่างศูนย์เกษตรดิจิทัล สถาบันวิทยาศาสตร์และการเกษตรมณฑลฝูเจี้ยนกับหน่วยงานด้านการเกษตรของอิสราเอล เพื่อก่อสร้างฟาร์มสาธิตอัจฉริยะ 5G จีน-อิสราเอลที่นครฝูโจว ซึ่งเป็นฟาร์มอัจฉริยะที่มีเครือข่าย 5G ครอบคลุมครบวงจรแห่งแรกของมณฑล มีการใช้หุ่นยนต์ AI “เสี่ยวรุ่ย” ในการทำงานภายในฟาร์มตั้งแต่การตรวจสอบสภาพภายในโรงเรือน ตรวจจับโรคในพืชก่อนการแพร่ระบาด และสามารถรายงานความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มแบบ real-time นอกจากนั้น มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาชั้นนำของจีนด้านการเกษตรอย่างมหาวิทยาลัย Fujian Agriculture and Forestry ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการเกษตร เช่น หุ่นยนต์ AI เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ด้านการเกษตรโดยใช้ Big Data และ IoT และ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ด้านการเกษตรและประมงเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิความชื้น ความเข้มของแสง เสียงรบกวน รวมถึงการวัดปริมาณออกซิเจน ค่า pH และระดับนำสำหรับการทำประมงอัจฉริยะ
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ไทยสามารถถอดบทเรียนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของจีนและมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย และส่งเสริมหุ้นส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยระหว่างไทย – จีน ตลอดจนการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ในภาคการลงทุน ไทยต้องเร่งชักจูงการลงทุนจากวิสาหกิจจีนที่มีศักยภาพด้านการสร้างระบบบริการเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำสมัย เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกอบรมทักษะการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่ม ความเข้มแข็งแก่ห่วงโซ่อุปทานการเกษตรของไทยให้ในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง:
- https://www.globaltimes.cn/page/202302/1286022.shtml
- http://www.fjxynm.com/intro/1.html
- https://new.qq.com/rain/a/20230410A07F8Q00
- https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_9914598
- https://www.163.com/dy/article/HR7FS41605118405.html
- https://nd.fjsen.com/2023-03/13/content_31268487.htm
- http://www.news.cn/local/2023-03/14/c_1129431683.htm
- http://fjnews.fjsen.com/2023-02/20/content_31252781.htm
- http://www.news.cn/politics/2023-03/25/c_1129464584.htm
- http://m.ce.cn/bwzg/202301/30/t20230130_38366536.shtml
- http://www.gov.cn/xinwen/2023-01/19/content_5737889.htm
- http://www.sm.gov.cn/zw/tjxx/tjjd/202301/t20230129_1875503.htm
- http://www.shsyzx.agri.cn/jyjl_1/202104/t20210423_7655441.htm
- http://cpc.people.com.cn/n1/2022/1215/c448544-32587387.html
- https://news.cnstock.com/xhsmz/ppqyzx/202112/4797322.htm
- https://www.fj.chinanews.com.cn/news/2023/2023-05-07/524064.html
- http://www.fzcl.gov.cn/xjwz/zwgk/tjxx/tjjd/202302/t20230202_4531030.htm https://www.ningde.gov.cn/zwgk/tjxx/tjgb/202303/t20230331_1747045.htm http://ex.chinadaily.com.cn/exchange/partners/82/rss/channel/cn/columns/snl9a7/stories/WS 6461c0c1a310537989374207.html