จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกา (African Swine Fever – ASF) เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ในมณฑลทางตอนเหนือของจีน และแพร่ระบาดรุนแรงไปกว่า 30 มณฑลทั่วประเทศ ผู้ประกอบการจีนต้องกําจัดสุกรมากกว่า 100 ล้านตัว ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตเนื้อสุกรของจีนลดลงกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 นำมาซึ่งการขึ้นราคาและมีความต้องการบริโภคสุกรและเนื้อสัตว์ทางเลือกในระดับสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทําสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40.87 หยวนต่อกิโลกรัม
[su_spacer]
จีนเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อสุกรหลักของโลก โดยในปี 2561 จีนบริโภคเนื้อสุกรมากถึง 56.12 ล้านตันหรือร้อยละ 50.54 ของปริมาณการบริโภคสุกรทั้งโลก การขาดแคลนเนื้อสุกรจึงส่งผลกระทบหนักต่อจีนและ ทําให้ประชาชนชาวจีนหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทน และทําให้ระดับราคาเนื้อไก่ในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของจีนระบุว่า ในเดือน มี.ค. 2562 ราคาจําหน่ายเนื้อไก่ขาวเฉลี่ยอยู่ที่ 15.85 หยวนกิโลกรัม และปรับขึ้นสูงมากเป็น 18.38 หยวนกิโลกรัม ในเดือน ต.ค. 2562 นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลราคาจําหน่ายเนื้อไก่ในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนําในประเทศ พบว่ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40.76 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยมีเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) อุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนเนื้อสุกรและมีราคาแพง ทําให้ชาวจีนหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทน และ (2) ความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มปีกไก่เพิ่มสูงขึ้นจนปริมาณการผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเพียงพอ
[su_spacer]
จีนแก้ปัญหาโดยการนำเข้าไก่จากต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 จีนนําเข้าไก่แช่แข็งกว่า 627,940 ตัน มูลค่า 10,494 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมศุลกากรของจีนยังระบุว่าเฉพาะในเดือน ต.ค. 2562 จีนนำเข้าไก่แช่แข็งจากต่างประเทศมากถึง 66,921 ตัน มูลค่ารวม 1,264 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา
[su_spacer]
ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังได้รับสิทธิ์ในการส่งออกเนื้อไก่มายังจีนอีกครั้ง ไทยได้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งมาจีน รวม 55,031 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 5.18 เท่า เมื่อเทียบจากปริมาณในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 164.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9 เท่าจากมูลค่าปี 2561 นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกสัตว์ปีกแช่แข็ง และผลพลอยได้ของไก่ที่ตัดแต่งเป็นชิ้นส่วน (HS: 020714) มายังจีนคิดเป็นอันดับ 3 อีกด้วย ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกไปจีนมากถึง 55,302 ตัน พุ่งสูงขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ถึง 3.66 เท่า แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่วิสาหกิจไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปไก่ที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนจาก Certification and Accreditation Administration of the People’s Republic of China (CNCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติวิสาหกิจต่างประเทศที่นำเข้า-ส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ต้องขออนุญาต
[su_spacer]
แม้ทำเลที่ตั้งของไทยที่อยู่ใกล้จีนมากกว่าผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่อย่างบราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา แต่ไทยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเนื้อไก่แปรรูปของจีนได้ เนื่องจากปัจจุบัน โรงงานของไทยได้รับ การประกาศรับรองบนเว็บไซต์ทางการของ CNCA เพียง 7 โรงงาน และยังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้รับการรับรองเพิ่มอีก 9 โรงงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อสุกรของจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งมายังจีน มีขั้นตอนการดำเนินการโดยสังเขป ดังนี้
[su_spacer]
- โรงงานผู้ผลิตจะต้องขอรับการรับรองโรงงานเพื่อการส่งออกจากกรมปศุสัตว์เสียก่อน หลังจากได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว สามารถแจ้งความประสงค์ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากไก่ไปยังจีนได้ โดยกรอกใบสมัคร (APPLICATION FOR EXPORT OF MEAT TO P.R.CHINA) เป็นภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ครบถ้วน จากนั้นส่งไปยังกลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) โดย สพส. จะเป็นผู้รวบรวมใบสมัครและตรวจสอบความถูกต้องและส่งไปยังสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางจีน เมื่อฝ่ายจีนตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการตรวจสอบโรงงานสถานที่ผลิตในไทย
- กรณีโรงงานผ่านการรับรอง ฝ่ายจีนจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการบนเว็บไซต์ CNCA โดยระบุชนิดสินค้าที่สามารถทำการส่งออกไปจีนได้ แต่ในกรณีโรงงงานไม่ผ่านการรับรอง ผู้ประกอบการยังไม่สามารถทำการส่งออกไปจีนได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติมตามข้อกำหนดที่ฝ่ายจีนระบุไว้ และสามารถยื่นเอกสารการแก้ไขมาที่ สพส. ได้ทันทีที่การปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเสร็จสิ้น ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตที่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของจีนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำการส่งออกสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตนั้นไปยังจีนได้
- ผู้ประกอบการไทยควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถสืบค้นข้อกำหนดและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทางเว็บไซต์ www.chinesestandard.net และ www.cnspbzw.com รวมถึงศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่จำกัดโควต้า หรือสินค้าที่ต้องใช้ใบอนุญาตก่อนนำเข้าได้ที่กรมโควต้าและใบอนุญาต กระทรวงพาณิชย์จีน ได้ที่ www.licence.org.cn
[su_spacer]
นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ทางศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้แนะนำฐานข้อมูลที่จัดทำโดยรัฐบาลจีนในการตรวจสอบสถานะและความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้าเบื้องต้น เพื่อให้ การทำธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และลดโอกาสการถูกฉ้อโกงทางธุรกิจ ได้แก่ เว็บไซต์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบริษัทจีนที่นำเข้า-ส่งออกสินค้า ของกรมศุลกากรจีน ที่ www.credit.customs.gov.cn และเว็บไซต์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบริษัทจีน และสถานะการดำเนินธุรกิจเบื้องต้นของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.gsxt.gov.cn
[su_spacer]
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3007912/china-chicken-prices-jump-supply-shortage-consumers-swap
- http://www.cnca.gov.cn/bsdt/ywzl/jkspjwscpqzc/
- https://www.chinesestandard.net/gsearchFound.aspx?q=Hygienic%20specifications%20of%20meat%20packing%
- http://data.chinabaogao.com/nonglinmuyu/2019/11264644432019.html
- http://www.chinafarming.com/axfwnh/2019/11/18/m3558254646.shtml
- https://www.prachachat.net/economy/news-406498
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน