“ข้าว” เป็นอาหารหลักของชาวบาห์เรนและชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในบาห์เรน มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมากมาก รัฐบาลบาห์เรนจึงไม่เก็บภาษีนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ รวมถึงข้าวที่นำเข้าจากไทย ข้าวไทยจึงเป็นที่รู้จักกันดีในบาห์เรนว่าเป็นข้าวที่ราคาสูงเนื่องจากมีคุณภาพและรสชาติอร่อยถูกปาก
[su_spacer]
ชาวบาห์เรน โดยชาวบาห์เรนและชาวต่างชาติในบาห์เรนเป็นผู้มีกำลังซื้อสูงจึงนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิของไทย แม้ว่าคู่แข่งสำคัญในตลาดข้าวของไทยในบาห์เรน คือ อินเดีย เพราะมีประชาชนชาวอินเดียอาศัยอยู่ในบาห์เรนราวร้อยละ 40 ของประชากรบาห์เรนทั้งประเทศ ทำให้อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติที่มียอดจำหน่ายและการนำเข้าสูงกว่าข้าวไทยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ความนิยมของข้าวอินเดียจะอยู่ในระดับที่สูสีหรือเหนือกว่าข้าวไทย แต่อินเดียก็ยังไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของไทยเช่นเวียดนามที่ส่งออกข้าวหอมมะลิ และข้าวขาวมายังบาห์เรน รวมทั้งยังมีราคาขายต่อตันถูกกว่าข้าวไทยมากด้วย
[su_spacer]
จากสถิติของกรมศุลกากรไทย ข้าวไทยที่ส่งไปจำหน่ายในบาห์เรนมีมูลค่าการค้าในปี 2560 จำนวน 70.78 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 71.36 ล้านบาท ปี 2562 ตกลงมาเหลือเพียง 52.47 ล้านบาท แต่ในสามเดือนแรกของปี 2563 ข้าวไทยทำยอดจำหน่ายได้ถึง 18.58 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 107 และมีแนวโน้มที่จะสามารถจำหน่ายได้มากขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยบาห์เรนมีความจำเป็นต้องสำรองข้าวไว้ใช้บริโภคในยามวิกฤต
[su_spacer]
แม้บาห์เรนจะมีระเบียบขั้นตอนในการนำเข้าข้าวไม่ยุ่งยากมากนัก คือ ต้องมีใบปลอดโรคหรือใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary certificate : PC) เพื่อใช้ในการส่งออก และกรณีข้าวที่นำเข้าจากไทยนั้น ต้องมี หนังสือรับรองสุขอนามัยข้าว (Health Certificate) ซึ่งเป็นหนังสือรับรองคุณภาพข้าวส่งออก ที่ระบุว่าเป็นข้าวที่เหมาะสำหรับการบริโภค ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองและชี้แจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อนำไปแสดงต่อศุลกากร แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบการชาวไทยในบาห์เรนนำเข้าข้าวไทย มายังบาห์เรนได้โดยตรง การค้าข้าวไทยในบาห์เรนจึงอยู่ในมือพ่อค้าข้าวอินเดียในบาห์เรนแทบทั้งสิ้น เนื่องจากรู้จักลูกค้าและมีช่องทางจำหน่ายดีกว่าพ่อค้าชาวไทย ร้านอาหารไทยและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างซื้อข้าวไทยที่นำเข้าจากพ่อค้าเหล่านี้เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาสำหรับการเคลียร์ของที่ศุลกากร และไม่มีความยุ่งยากเรื่องการขนส่งและการจัดเตรียมเอกสารสำหรับการนำเข้าแต่อย่างใด
[su_spacer]
หากพูดถึงโอกาสของข้าวไทยภายหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 บาห์เรนมีความต้องการสำรองข้าวสูง จึงมีความต้องการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น วิกฤตในครั้งนี้จึงกลายเป็นโอกาสของการส่งออกข้าวไทยโดยปริยาย ประกอบกับชาวบาห์เรนนิยมรับประทานอาหารไทย ร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ตในบาห์เรนจึงจำหน่ายข้าวไทยหลากหลายชนิดทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง และข้าวขาว นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลและอำนวยความสะดวกในเรื่องการบริโภคของประชาชนชาวบาห์เรนในช่วงเทศกาลถือศีลอด นายกรัฐมนตรีของบาห์เรนได้สั่งให้ทางรัฐบาลแจกจ่ายข้าวหอมมะลิไทยแก่ประชาชน เนื่องจากข้าวไทยที่เป็นนิยมแพร่หลายภายในประเทศ
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยยังคงมีอุปสรรคในเรื่องของราคาที่สูงกว่าข้าวของประเทศคู่แข่ง ทำให้ในปี 2562 ยอดขายข้าวไทยลดลงมาก บวกกับปัจจัยจากค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่ง โอกาสเกิดภัยแล้งในไทย ที่ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยพยายามหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นความเสี่ยงต่อกำลังการผลิตข้าวของไทย รวมทั้งค่าระวางเรือในการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น
[su_spacer]
ทั้งนี้ สินค้าข้าวไทยที่ควรส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้น คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และข้าวขาว เนื่องจากต้องรักษาตลาดข้าวเดิมตามความนิยมของประชาชนชาวบาห์เรน และในอนาคตควรส่งเสริมให้มี การส่งออกข้าวไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายในบาห์เรน อาทิ ข้าวกล้อง และข้าวไรซ์เบอรี่ เนื่องจากประชาชนชาวบาห์เรนหันมาสนใจสินค้าเพื่อสุขภาพอนามัยมากขึ้นในระยะหลัง หากทำสำเร็จ ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ถือครองตลาดข้าวพันธ์สุขภาพในบาห์เรนได้เนื่องจากเป็นเจ้าแรกที่หันมาจับกระแสทำการตลาดด้านสุขภาพอย่างจริงจัง
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา