Gig Economy Workers หรือ Own-account Worker เป็นรูปแบบของการประกอบอาชีพอิสระที่กำลังเติบโตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่พบได้ทั่วโลกซึ่งสร้างอุปสงค์ต่อแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระมากขึ้น ปัจจุบัน ดัชนี The Online Labour Index ของมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ถึงความต้องการ Gig Workers ที่มีทักษะสูงในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย การป้อนข้อมูลและธุรการ การเขียนและการแปล การสนับสนุนการขายและการตลาด และบริการระดับมืออาชีพ เช่น บริการทางการเงิน
ในสิงคโปร์ สถิติของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower: MOM) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน คิดเป็น 1 ใน 10 ของแรงงานท้องถิ่น จากแนวโน้มดังกล่าว สิงคโปร์จึงได้ประกาศวิสัยทัศน์ Forward Singapore มีเป้าหมายส่งเสริมชาวสิงคโปร์ที่ประกอบอาชีพ Gig Economy Workers ในด้านทักษะ เส้นทางอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการกำหนดแผนแม่บท Research Innovation and Enterprise (RIE 2025) ในการนําเทคโนโลยี นวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ มุ่งเน้น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะ Web 3.0 (2) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่แรงงาน รวมถึงการผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และ (3) การวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการเงินดิจิทัล
การส่งเสริม Gig Economy Workers ดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) ความเปราะบางของอาชีพอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานส่งของ พนักงานขับรถโดยสารส่วนบุคคล เช่น Grab ที่มีความไม่มั่นคงสูงทั้งด้านกายภาพและการเงิน ได้รับผลกระทบง่ายจากเศรษฐกิจโลก (2) การแข่งขันของอุตสาหกรรม Gig Economy Workers ที่เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามกระแสการเติบโตของงานอิสระทั่วโลก
คณะนักวิจัยจาก Institute of Policy Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้ทำการวิจัย เรื่อง ‘ความจําเป็นของการพัฒนาทักษะ ด้านดิจิทัลแก่ผู้มีอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers or Own-account Workers) ในสิงคโปร์’ โดยพบว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระในทุกระดับต้องพัฒนาทักษะสำคัญโดยเฉพาะทักษะดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ประกอบด้วย (1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานอิสระ (Gig literacies) เช่น ทักษะการสร้างบัญชีประวัติบุคคลบนเครือข่ายออนไลน์ เว็บไซต์ การใช้ดิจิทัลเพื่อรักษา work-life balance การบริหารความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง-เพื่อนร่วมงาน ผ่าน platform ออนไลน์ (2) ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค สำหรับการประกอบอาชีพอิสระเฉพาะทาง เช่น งานออกแบบดิจิทัล งานเกี่ยวกับมัลติมีเดีย เป็นต้น
คณะนักวิจัย NUS พบว่า การเสริมสร้างขีดความสามารถยังสำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระ ยังสามารถทำได้ใน 3 ระดับ คือ (1) ทักษะพื้นฐาน ที่เน้นใช้งานง่าย การนำเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เช่น การสื่อสารด้วยดิจิทัล เป็นต้น (2) ทักษะขั้นกลาง การสร้างเนื้อหาดิจิทัล ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการรับงานบน platform ดิจิทัล เช่น Grab และ Upwork (3) ทักษะเฉพาะ ที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น งานพัฒนาซอฟต์แวร์ การบริหารธุรกิจ การบริการระดับมืออาชีพ ทั้งนี้ คณะนักวิจัย NUS เสริมว่า พื้นฐานการเขียนโปรแกรม ทักษะการประมวลผล ระบบ cloud จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ
การเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers) เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนหรือแรงงานในประเทศหรือเมืองที่มีเศรษฐกิจขั้นสูงที่กำลังเป็นแนวโน้มในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย จึงเป็นทั้งโอกาสและความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะเพื่อให้ปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพอิสระและเป็นที่ต้องการสูงในปัจจุบัน โดยอาจเริ่มต้นจากการอบรมหลักสูตรระยะสั้น การฝึกสอนทักษะจำเป็นสำหรับพนักงาน และการติดตาม update เทรนด์ดิจิทัลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระได้
อ้างอิง:
- สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย:
- ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ