ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC) ได้นำเสนอความเคลื่อนไหวของตลาดโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์ให้ผู้อ่านมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดนี้กำลังขยายตัวอย่างคึกคัก ทั้งจากการสนับสนุนของรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา (ตามแผน 30 by 30 ด้านความมั่นคงทางอาหาร) และเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
สำรวจตลาดสินค้าโปรตีนจากพืช (plant-based meat) ในสิงคโปร์: แผนธุรกิจที่น่าจับตามอง
ศูนย์ BIC ขอเชิญท่านผู้อ่านมาสำรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารในสิงคโปร์ หลายท่านอาจแปลกใจที่ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชในตลาดสิงคโปร์มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งลูกชิ้นปลา ติ่มซำ และเนื้อบดปรุงรสที่ทำจากโปรตีนพืช หรือลันเชี่ยนมีท (Luncheon Meat) แนวโน้มที่ชัดเจนคือผู้ผลิตอาหารหลายรายที่จากเดิมผลิตแต่อาหารจากเนื้อสัตว์ ได้หันมาลงทุนขยายโรงงานผลิตอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืช เช่นเดียวกับบริษัทสตาร์ทอัพที่เริ่มลงทุนในธุรกิจนี้ โดยบริษัททั้งรายใหญ่และรายย่อยได้วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชใหม่ ๆ ต่อเนื่องข้ามปีกันเลยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น ลูกชิ้นปลาโปรตีนพืชยี่ห้อ Eat Plant Love ของยี่ห้อ Bo Bo ที่คนสิงคโปร์คุ้นเคย ได้เริ่มวางจำหน่ายแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice และยังจำหน่ายแฮมและเครื่องแกงที่ทำจากโปรตีนพืชอีกด้วย ลันช์เชียนมีทจากโปรตีนพืชยี่ห้อ Anew ของยี่ห้อ Golden Bridge และ Kelly’s ที่มีชื่อเสียงยาวนาน วางขายทั้งใน FairPrice และช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์ม Shopee และ Redmart ซึ่งนอกจากลันเชี่ยนมีทแล้ว แบรนด์ Anew ยังจะเริ่มวางขายไก่ย่างเนย ซอสเนื้อบด และเนื้อปรุงรสในช่วงตรุษจีนปี 2566
สำหรับคนรักอาหารเอเชีย ทั้งแขก จีน และญี่ปุ่น บริษัท Tee Yih Jia Food ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของสิงคโปร์มีกำหนดวางขาย สะเต๊ะ ซาลาเปาหมูแดง หอยจ้อ และไก่ย่างจากโปรตีนพืชภายใต้ยี่ห้อ ALTN ในปี 2566 อาหารจานไข่จากโปรตีนพืชยี่ห้อ OnlyEg ของบริษัทสตาร์อัพสิงคโปร์ Float Foods เช่น ทามาโกยากิหรือไข่หวานญี่ปุ่น ก็มีร้านอาหารชื่อดังหลายรายนำไปปรุงอาหารจนลูกค้าติดใจ เช่น ภัตตาคารอาหารจีน The Dragon Chamber ภัตตาคารของโรงแรม Shangri-La รวมถึงร้านอาหารไทย Bangkok Jam ทุกสาขา เนื้อไก่จากโปรตีนพืชยี่ห้อ Shandi ทั้งเนื้อไก่บด น่องไก่ และแผ่นแฮมเบอร์เกอร์ ก็เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกที่น่าสนใจ หรือในอีกสองปีข้างหน้าก็จะมีเนื้อปลาทูน่า และเนื้อปลาไหลญี่ปุ่นยี่ห้อ Umami Meatsที่ทำจากโปรตีนพืชสังเคราะห์ของบริษัท Umami Meats สตาร์ทอัพของสิงคโปร์วางจำหน่าย
นอกจากผู้ประกอบการของสิงคโปร์แล้ว บริษัทต่างชาติก็เริ่มเข้ามาขยายตลาดในสิงคโปร์ด้วยเช่น ลันช์เชียน มีทและทูน่ากระป๋องของบริษัท unMeat จากฟิลิปปินส์ ที่วางจำหน่ายทั้งใน FairPrice รวมทั้งขายออนไลน์ใน Redmart และเกี๊ยวและไส้กรอกของบริษัท Dutch Food Tech จากเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท Esco Aster บริษัทผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ของสิงคโปร์ และจะเริ่มวางขายในปี 2567
แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารทางเลือกในสิงคโปร์
ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ตลาด Blackbox Research ของสิงคโปร์เปิดเผยว่า คนสิงคโปร์จำนวนมากถึง 77% สนใจที่จะบริโภคโปรตีนทางเลือกกันมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าอาหารมีรสชาติอร่อยและราคาไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์จริง
สิงคโปร์ได้อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์สังเคราะห์ได้เป็นประเทศแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และในเร็ว ๆ นี้ สิงคโปร์จะเป็นฐานที่ตั้งของโรงงานผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งลงทุนโดยบริษัท Eat Just ของอเมริกา บนเนื้อที่ขนาด 2,787 ตารางเมตร หรือประมาณครึ่งสนามฟุตบอล โดยคาดว่าจะสามารถผลิตเนื้อไก่ได้สูงสุดถึง 45 ตันต่อปี และจะเริ่มผลิตได้ภายในเดือนมีนาคม 2566
ด้วยกำลังผลิตอาหารทางเลือกที่สูงขึ้นนี้ น่าจะทำให้เนื้อไก่ของบริษัทมีราคาถูกลงอีกด้วย ทั้งนี้ โรงงานผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์ใช้พื้นที่และแรงงานน้อยกว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมาก อีกทั้งมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ที่มีอัตราสูงถึง 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัท Eat Just ยังมีแผนขยายตลาดเนื้อวัวสังเคราะห์จากพืช ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา โดยจะร่วมทุนกับบริษัท Esco Aster ในด้านการผลิตในอนาคต
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตอาหารเพื่อส่งออก ในขณะที่สิงคโปร์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากกว่า 90% และสิงคโปร์พยายามสร้างความยืดหยุ่นในการนำเข้าอาหารที่มีความหลากหลายจากแหล่งต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือก และหากพิจารณาพฤติกรรมผู้บริโภคของสิงคโปร์ก็สนใจบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจโปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ทางเลือกของไทยจึงสามารถขยายตลาดมากยังสิงคโปร์ได้ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์วางมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารไว้ค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษากฎระเบียบของสิงคโปร์อย่างจริงจัง
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยกับผู้นำเข้าสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงสินค้าโปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ทางเลือกด้วย โดยเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/singapore/s-pore-may-be-first-to-try-food-with-microbe-based-protein
- https://www.straitstimes.com/life/food/plant-based-fishballs-and-luncheon-meat-traditional-food-manufacturers-offer-meatless-options
- https://www.straitstimes.com/singapore/environment/asias-largest-cell-cultured-chicken-facility-to-be-up-and-running-in-bedok-from-2023