เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 หนังสือพิมพ์ The Business Times ได้นำเสนอบทความที่เขียนโดยนาย Peter Janssen ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งให้ความเห็นว่าการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่คุ้มค่าในระยะยาวอันเนื่องมาจาก (1) ปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทย ที่หดตัว 6.5% ในปี 2563 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และน่าจะฟื้นตัวและขยายตัวเพียง 4% ในปี 2564 (2) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และ (3) การกำหนดเส้นทางเดินรถผ่านพื้นที่ที่มีประชากรไม่หนาแน่น บทความจึงตั้งคำถามโดยอ้างอิงนักเศรษฐศาสตร์/นักวิจัยของไทยว่า โครงการพัฒนารถไฟฟ้าฯ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐของไทยจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่
.
การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ (BTS SkyTrain) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2543 โดยเริ่มจากพื้นที่เศรษฐกิจและธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ จากนั้นได้ขยายไปสู่บริเวณเขตที่อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวมประมาณ 180 กิโลเมตร และมีแผนจะขยายระยะทางเป็น 560 กิโลเมตร ภายในปี 2572 (ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี) ซึ่งยาวกว่าระบบรถไฟฟ้าในกรุงลอนดอน สหราอาณาจักร (London’s Tube) ที่มีระยะทาง 420 กิโลเมตร ซึ่งบทความได้วิเคราะห์ว่าโครงการพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลของไทยจะไม่คุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากปัจจัย (1) การประกาศปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านใจกลางเมือง) ตลอดสาย เป็นเงิน 104 บาท จะทำให้มีผู้ใช้บริการน้อยลง (2) ระบบเชื่อมต่อระหว่างสถานีชุมทางยังไม่มีประสิทธิภาพ (เท่ากับระบบเชื่อมต่อของสิงคโปร์) และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่นิยมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า
.
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต คือ นับตั้งแต่ปี 2541 – 2560 ราคาที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีเขียว) เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า และราคาคอนโดมิเนียมในรัศมี 800 เมตรจากสถานีฯ ในเมืองสูงขึ้น 10% ต่อปี ซึ่งต่างจากสถานีรถไฟฟ้านอกเมือง (สายสีม่วง) ที่ส่วนใหญ่มีประชากรไม่หนาแน่นมากพอที่จะพัฒนารถไฟฟ้าแล้วเกิดความคุ้มทุน ทั้งยังมีปริมาณคอนโดมิเนียมมากกว่าความต้องการจริง ดังนั้น ผู้เขียนจึงประเมินว่าในอนาคต ผู้โดยสารที่อาศัยอยู่นอกเมืองจะใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเข้าเมืองไปทำงานในเมืองไม่มากนัก
.
ในส่วนของสิงคโปร์นั้น ปัจจุบันมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2 ระบบ ได้แก่ (1) Mass Rapid Transit (MRT) เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2530 และพัฒนาเป็น 6 สายรอบประเทศ ประกอบด้วยสถานี 130 แห่ง ระยะทางรวม 230 กม. (ยังไม่รวมเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีผู้ใช้บริการ 3,000,000 คน/วัน และ (2) Light Rail Transit (LRT) หรือระบบรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเชื่อมเขตเมืองใหม่ที่มีผู้อาศัยอยู่ไม่หนาแน่นกับ MRT เข้าสู่ตัวเมือง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2543 ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาย ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสิงคโปร์ ประกอบด้วยสถานี
40 แห่ง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 200,000 คน/วัน
.
กรมการขนส่งทางบกสิงคโปร์ (Land Transport Authority – LTA ) วางแผนการขยายเส้นทางระบบ MRT อีก 50% โดยจะมีระยะทางรวม 360 กิโลเมตร ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ตามหลักการเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก คือ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเดินจากบ้านพักไปยังสถานี MRT ได้ภายใน 10 นาที อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 นาย Khaw Boon Wan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ (ในขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แผนการดังกล่าวอาจล่าช้าไปบ้างเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลสิงคโปร์ จะยังคงดำเนินโครงการขยายเส้นทาง MRT ต่อไป นอกจากนี้ LTA ได้เตรียมรื้อถอนตู้โดยสารรถไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท Kawasaki ของญี่ปุ่นออก เนื่องจากใช้งานมาแล้วมากกว่า 30 ปี และจะนำตู้โดยสารใหม่ของบริษัท Bombardier ของแคนาดามาทดแทนในเร็วๆ นี้
.
สำหรับการเก็บค่าโดยสารในสิงคโปร์ ผู้โดยสารจะชำระผ่านบัตร EZ-link ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ทั้งหมดในสิงคโปร์ โดยคำนวณค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้นที่เพียง 0.42 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 9.45 บาท) ทั้งยังมีระบบส่วนลดค่าโดยสารเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด กล่าวคือ ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยขนส่งมวลชนหลายประเภทอย่างต่อเนื่องในเวลาที่กำหนด จะได้รับส่วนลดค่าโดยสารมากขึ้นไปด้วย (เช่น โดยสารรถไฟ LRT ไปต่อรถไฟ MRT หรือ โดยสารรถไฟ MRT ไปต่อรถประจำทางเป็นต้น)
.
สิงคโปร์ได้ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะให้ผู้ใช้บริการปราศจากอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็นและลิฟต์โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีสัมภาระ และผู้มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงการสร้างสถานีเพื่อเชื่อมต่อชุมทางรถประจำทางเข้ากับรถไฟฟ้า (Bus Interchange) เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในเขตพักอาศัยหนาแน่น โดยมีศูนย์อาหารและห้างสรรพสินค้าบริเวณโดยรอบสถานีชุมทางดังกล่าวด้วย อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลาและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup) นำข้อมูลไปพัฒนา Application ใหม่ๆ ที่ตอบสนองรูปแบบชีวิตทันสมัยในปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการคมนาคม/ขนส่งทางบกแบบครบวงจรใน Application เดียว
.
การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะสิงคโปร์แสดงให้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วและตรงเวลามากยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้เข้ามาพัฒนาระบบขนส่งยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อมได้เข้ามามีโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนของประเทศไทย หากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้เข้ามามีบทบาทเช่นเดียวกับการดำเนินการของสิงคโปร์ ธุรกิจขนาดย่อมของไทยก็สามารถพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลของไทย รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะให้เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานของประชาชนได้อย่างคุ้มค่าในระยะยาวแน่นอน
.
ข้อมูลอ้างอิง
.
The Business Times. Bangkok’s expanding mass transit yields mixed economic benefits [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/transport/bangkoks-expanding-mass-transit-yields-mixed-economic-benefits
.
The Straits Times. MRT network expansion plans to be delayed, will still reach 360km by early 2030s: Khaw Boon Wan [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.straitstimes.com/singapore/transport/mrt-network-expansion-plans-to-be-delayed-will-still-reach-360km-by-early-2030s
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์