เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นาย Lawrence Wong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวเปิดงานสัปดาห์พลังงาน ค.ศ. 2022 โดยกล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับประกาศยุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Hydrogen Strategy)
แผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
ในปี 2565 สิงคโปร์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 32% หรือ 2 เท่าจากปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อปี 2552 ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วย GDP ต่ำที่สุด ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์จะเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้นจากที่ตั้งเป้าไว้สูงที่สุดในปี ค.ศ. 2030 ที่ 65 ล้านตันต่อปี เปลี่ยนเป็นเหลือ 60 ล้านตันต่อปีก่อน ค.ศ. 2030 โดยมุ่งเน้นที่การลดการปล่อยก๊าซจากการคมนาคมและการขนส่ง ซึ่งแผนใหม่นี้จะทำให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 โดยนโยบายที่สิงคโปร์จะขับเคลื่อน ได้แก่
- การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ปัจจุบันสิงคโปร์เก็บภาษีคาร์บอนประมาณ 80% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด โดยรัฐบาลวางแผนปรับอัตราภาษีคาร์บอนจาก 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อตัน ขึ้นเป็น 50-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันภายในปี 2573
- การลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนโดยการเน้นที่ภาคการผลิตกำลังไฟฟ้า เนื่องจากมีสัดส่วนปล่อยคาร์บอนสูงถึง 40 % ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด
- การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานไฮโดรเจน โดยตั้งเป้าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2 กิกะวัตต์ภายใน 2573 ซึ่งจะเพียงพอต่อ 350,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้มีการเริ่มนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย
ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Strategy)
สิงคโปร์เห็นว่าพลังงานจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเมื่อมีการเผ้าไหม้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคต อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มลงทุนในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น โดยยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติมีสาระสำคัญ 5 ประการ
- ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในวงกว้างเช่นแอมโมเนียที่เป็นพาหะพลังงานของไฮโดรเจน สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้กับการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมทางทะเล
- เพิ่มการลงทุน 2 เท่าในโครงการวิจัยและพัฒนาไฮโดรเจน ได้แก่ โครงการวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ โดยจะลงทุนเพิ่ม 129 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากเดิม 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการนำเข้า การจัดการ และการใช้ไฮโดรเจนอย่างปลอดภัย
- การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับต่างประเทศที่มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน เช่น สร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและความหลากหลายในการนำเข้าไฮโดรเจน
- ศึกษาเงื่อนไขของพื้นที่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฮโดรเจนใหม่ในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น รวมถึงคุณสมบัติเคมีของไฮโดรเจนที่แตกต่างจากก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้ต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังหากจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปทั่วเมือง
- พัฒนาภาคอุตสาหกรรมและแรงงานให้พร้อมต่อการใช้ระบบไฮโดรเจนขนาดใหญ่ซึ่งจะมีงานประเภทใหม่ ๆ เช่น การซื้อ ขาย และจัดเก็บไฮโดรเจน และการตรวจสอบและรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น
อีกทั้ง สิงคโปร์ยังมีแผนการที่จะขยายแผนการเงินสีเขียว (green finance) และเขตพลังงาน เนื่องจากแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเสียเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนร่วมกัน สิงคโปร์จึงมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียว เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนในการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเน้นการร่วมมือ 3 ประการ ได้แก่ 1. ข้อมูลที่ดีขึ้น (Data) 2. การเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น (Disclosure) 3. การให้คำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเงินสีเขียว (Definition)
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีแผนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น แผนการเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2040 แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความยั่งยืนที่ Jurong Island และแผนการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ Sentosa Island
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์