ปัจจุบัน สิงคโปร์ก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ขั้นสูงสุด โดยมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 18.4% หรือ 2 คน ในจำนวนประชากร 10 คน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก โดยภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 23.8% หรือ 1 คนในจำนวนประชากร 4 คน จึงไม่แปลกที่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) ในสิงคโปร์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ
ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสูงสุดเช่นเดียวกับสิงคโปร์ โดยจะมีประชากรสูงวัยมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 ทำให้ตลาดธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ มีมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเติบโต 1.5 เท่าในทุกปี ดังนั้น การศึกษาแนวโน้มตลาดและการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์จะช่วยเพิ่มพูนโอกาสและศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC) พบว่า บริการของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพในสิงคโปร์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ (care management) และการบริการผู้สูงวัยที่บ้าน (home monitoring) จากข้อมูลของบริษัท Action Community for Entrepreneurship (ACE) ปัจจุบัน สิงคโปร์มีบริษัทด้านเทคโนโลยีการแพทย์กว่า 300 บริษัท
ตัวอย่างของธุรกิจที่ศูนย์ BIC เห็นว่าน่าสนใจมีหลายแห่ง เริ่มจากบริษัท Homage ก่อตั้งเมื่อปี 2559 โดยมีรูปแบบบริการหลัก คือ การจัดการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยแบบครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการจัดหาพนักงาน “ผู้ดูแล” เพื่อให้ความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน บริการพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และบริการนักบำบัด และมีแพลตฟอร์ม Telehealth เพื่อให้บริการออนไลน์ เช่น ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ บริการตรวจสุขภาพ บริการรถพยาบาล และการจัดส่งยา
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันพบคุณหมอได้ทุกที่“DoctorAnywhere” ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ที่เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์ โดยสามารถขอคำปรึกษากับแพทย์ผ่านระบบทางไกลหรือวิดีโอคอล ทำให้ไม่ต้องรอคิวนาน และบริการนัดหมายตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนต่าง ๆ ที่สามารถขอรับบริการได้ทั้งที่คลินิกหรือที่บ้าน ปัจจุบัน DoctorAnywhere เปิดให้บริการทั้งในสิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีแพทย์ และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญมากถึง 2,500 คน และจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 2.5 ล้านคน ทั้งนี้ ยังมีบริการอื่น ๆ สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม บริการที่เกี่ยวกับกายภาพบำบัดที่บ้านด้วยเทคโนโลยี AI ในการตรวจจับและวัดผลการทำกายภาพบำบัด และในปี 2566 สิงคโปร์จะมีศูนย์เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ (Virtual Centre of Healthcare Innovation Living Lab) เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมนักศึกษาแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D printing) อีกด้วย
สำหรับวงการ MedTech ของไทย ซึ่งมีจุดแข็งด้านความพร้อมในจำนวนทรัพยากรบุคคลในวงการสาธารณสุข และได้รับมาตรฐาน รวมถึงการยอมรับในระดับสากล ผู้ประกอบการด้าน MedTech ควรศึกษาตลาด โดยเฉพาะกฎระเบียบและปัญหาของลูกค้า (pain point โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างประชากรหรือความต้องการบริการทางการแพทย์ใกล้เคียงกับไทย ) เพื่อหาช่องทางการทำธุรกิจและขยายตลาดไปยังต่างประเทศต่อไป
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ / สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์