โปแลนด์ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของ EU มีมูลค่าการนำเข้า 340.5 พันล้านยูโร (327.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก 351 พันล้านยูโร (377.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.4 แต่ได้เปรียบดุลการค้า 10.6 พันล้านยูโร (11.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่เสียเปรียบดุลการค้า 20 พันล้านยูโร
การปลดล็อคเงินสนับสนุนจาก EU
โปแลนด์ให้ความสำคัญกับการกลับมาเป็นสมาชิกระดับแนวหน้าของ EU และประกาศให้โปแลนด์เข้าถึงเงินสนับสนุนจาก EU ซึ่งถูกหยุดไว้ก่อนหน้านี้ รวมมูลค่า 111 พันล้านสว้อตตี้ (ประมาณ 27.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้วยการปฏิรูประบบตุลาการ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลโปแลนด์ได้นำเสนอแผนปฏิรูป และล่าสุดเมื่อ 15 เมษายน 2567 EC ได้อนุมัติและส่งเงินสนับสนุนให้แก่โปแลนด์แล้ว 6.3 พันล้านยูโร (27 พันล้านสว้อตตี้) จาก EU recovery funds ซึ่งรัฐบาลโปแลนด์มีแผนจะนำเงินไปสนับสนุนหลายภารกิจ เช่น โครงการ Clean Air จำนวน 1.6 ล้านสว้อตตี้ โครงการ White Spots ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ จำนวน 720 ล้านสว้อตตี้ การปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่ง จำนวน 400 ล้านสว้อตตี้ ภาคการเกษตร จำนวน 200 ล้านสว้อตตี้ การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในสาขาเกษตร จำนวน 250 ล้านสว้อตตี้
ทั้งนี้ รัฐบาลโปแลนด์จะเดินหน้าทยอยปลดล็อคเงินสนับสนุนจาก EU อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะปลดล็อคได้เพิ่มอีก 22 พันล้านยูโรภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับการพัฒนาของโปแลนด์ให้สูงขึ้น สอดคล้องกับความประสงค์ของรัฐบาลโปแลนด์ที่ต้องการให้โปแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศ Tier 1 ของ EU และเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
ความสัมพันธ์กับไทย
โปแลนด์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ 1,062.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปีก่อนหน้า โปแลนด์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 44 ของไทย มูลค่า 594.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออก 5 ลำดับแรกของไทย ได้แก่ (1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) ผลิตภัณฑ์ยาง (3) แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (4) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และ (5) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 46 ของไทย มูลค่า 468.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้า 5 ลำดับแรกของไทย ได้แก่ (1) ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (2) สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (4) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ (5) เคมีภัณฑ์
โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 126.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากขึ้น 8.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง สะท้อนศักยภาพสินค้าไทยในตลาดโปแลนด์ ซึ่งยังสามารถเพิ่มพูนได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงว่าความนิยมไทยในโปแลนด์มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครนยังส่งผลให้โปแลนด์หันเข้าหาตลาดเอเชีย รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวโปแลนด์ มีการจัด chartered flight บินตรงไปยังกรุงเทพฯ ภูเก็ต และกระบี่ ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวโปแลนด์เดินทางมาไทยมากที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวโปแลนด์เดินทางมาไทย 121,700 คน และในช่วงเดือนมกราคม 2567 – 24 มีนาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแล้ว 75,176 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 61.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวโปแลนด์ทั้งปีก่อนหน้า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวโปแลนด์จะเดินทางมาไทยในปีนี้น่าจะมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 (นักท่องเที่ยวโปแลนด์เดินทางมาไทย 134,553 คน) แสดงให้เห็นว่าโปแลนด์เป็นตลาดที่มีศักยภาพและเนื้อหอมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวของไทยอาจพิจารณาหันมาให้ความสนใจกับตลาดนี้มากขึ้น
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์