อุตสาหกรรมเครื่องหนังในปากีสถานเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยอุตสาหกรรมหนังประกอบด้วยอุตสาหกรรมฟอกหนัง (tannery) และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องหนัง โดยในภาพรวมทางการตลาด อุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่เฉลี่ยร้อยละ 5.09 ต่อปี และคาดว่าจะมีรายได้มากถึง 1,439 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และจะสูงถึง 1,670 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ท่ามกลางภาวะวิกฤตเงินเฟ้อ
แนวโน้มของตลาดภายในประเทศ
เครื่องหนังยังเป็นสินค้าที่โดดเด่น โดยเฉพาะรองเท้าหนัง ซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของปากีสถาน ตามสถิติปี 2564 อุตสาหกรรมรองเท้าในปากีสถานใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก แบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงของปากีสถานมียอดขายเพิ่มขึ้น เช่น Elite Novado Ezok Olx หลายบริษัทหันมารับจ้างผลิตสินค้าประเภทเครื่องหนังมากขึ้น ในขณะที่บริษัทที่มีชื่อเสียงในตลาดภายในประเทศต่างพยายามเน้นสร้างตลาด ส่งออกของตนเอง อีกทั้งยังมีจํานวนผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมหนังเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย
แนวโน้มของตลาดส่งออกต่างประเทศ
ตามสถิติพบว่า ในแต่ละปี ประเทศที่ส่งออกหนังฟอกมากที่สุดในโลกคือ อิตาลี อินเดีย และปากีสถาน ส่วนประเทศที่นําเข้าสินค้าหนังสัตว์จากปากีสถานในปี 2563 คือเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ แต่ในปัจจุบันนั้นยอดนำเข้าลดลง ทําให้ปากีสถานหาช่องทางตลาดใหม่ทดแทน ได้แก่ จีน ยุโรปและเอเชีย นอกจากนี้ หนังฟอกและเครื่องหนังสร้างรายได้ให้แก่ปากีสถานที่ร้อยละ 5.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีหนังเป็นส่วนประกอบ และยังส่งออกสินค้าหนังฟอก (tanned leather) มูลค่าเกือบ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดียอดการส่งออกนี้ยังไม่เป็นที่พอใจเท่าไหร่นัก ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมด้านแฟชั่น แนวคิดต่อต้านการทารุณสัตว์ของชาวตะวันตก รวมถึงกระบวนการทางเทคนิคหรือเรื่องโลจิสติกส์อื่น ๆ
แนวทางการสนับสนุนของรัฐบาล
รัฐบาลปากีสถานหันมาให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นและมีแผนที่จะเสนอโครงการสร้างเขตฟอกหนัง (Tannery Zone) ที่เมือง Sialkot เพื่อฟื้นฟูตลาดเครื่องหนังให้กลับมาเฟื่องฟู รวมทั้งมีแผนสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าเครื่องหนังระดับโลก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการยกเว้นภาษีนําเข้าของสินค้าที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตเครื่องหนังอีกด้วย
อุปสรรคต่อการเติบโตอุตสาหกรรมหนังของปากีสถาน ได้แก่
- ขาดแรงงานที่มีฝีมือ เนื่องจากไม่มีวิทยาลัยอาชีวะเฉพาะด้าน
- ขาดอุตสาหกรรมที่ช่วยสนับสนุน จึงทําให้ต้องพึ่งการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะด้ายไนลอนและโพลิเอสเตอร์ และยังมีซิป กระดุม ซับใน หัวเข็มขัด
- ขาดความรู้/เทคโนโลยีในการรักษาวัตถุดิบ โดยเฉพาะการผลิตและรักษาหนังดิบ ส่งผลให้มูลค่าของหนังสัตว์ถูกทำลาย
- ขาดระบบรับรองคุณภาพสินค้า (Certification)
- ขาดการลงทุนร่วม (lack of joint venture) จากผู้นําในอุตสาหกรรมหนัง
- ภาพลักษณ์ของปากีสถานในสายตาโลก ทําให้ลูกค้าจํานวนหนึ่งไม่อยากเดินทางมาดูการผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของปากีสถาน
จะเห็นได้ว่าปากีสถานเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง หากแต่มีปัจจัยบางประการที่ยังต้องเดินหน้าพัฒนา ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในการแสวงหาช่องทางโอกาสและวางแผนในการต่อยอดธุรกิจเพื่อหาแนวทางตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่จะนำไปสู่การขยายตลาดในอนาคต