ระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป (India-Middle East-Europe Economic Corridor: IMEC) เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ (ผ่านทางราง ถนน และทะเล) ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) ระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางตะวันออก (Eastern Corridor) เชื่อมอินเดีย-อ่าวอาหรับ (หรืออ่าวเปอร์เซีย) และ (2) ระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางเหนือ (Northern Corridor) เชื่อมอ่าวอาหรับ-ยุโรป โดยจะสามารถขนส่งสินค้าและบริการไป-มาระหว่างอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อิสราเอล และสหภาพยุโรป (ดังรูปภาพที่ 1-2)
สหรัฐอเมริกา อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหภาพยุโรป ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป ในการประชุม G20 Summit ที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนกันยายน 2566
รูปภาพที่ 1: India-Middle East-Europe Economic Corridor
ที่มา: https://twitter.com/Galadriel_TX/status/1747828616136642923/photo/1
จากข้อมูลข้างต้น โครงการความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ IMEC มีเป้าหมายเพื่อ (1) เสริมการไหลเวียนทางการค้าและการขนส่งระหว่างเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรป (2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทั้งเส้นทางรถไฟ ถนน และทางเรือ (3) ส่งเสริมการผลิตและส่งออกพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานไฮโดรเจนพร้อมขนส่งผ่านท่อส่งก๊าซเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และ (4) ขยายโครงข่ายไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลใต้น้ำและตามแนวเส้นทางรถไฟ รวมถึงเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อถ่ายโอนข้อมูลข่าวสาร
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
โดยโครงการความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ IMEC มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายประการ ได้แก่
(1) เพิ่มศักยภาพการค้า ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะช่วยลดข้อจํากัดทางการค้า และต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ซึ่งการค้าของประเทศสมาชิกระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการค้าที่เพิ่มขึ้น
(2) เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะทำให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเกิดการเชื่อมโยงตลาดต่าง ๆ ตามแนวเส้นทาง ซึ่งจะทำให้การผลิตและความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วย
(3) เข้าถึงเส้นทางการค้าที่หลากหลาย นอกเหนือจากการพึ่งพาเส้นทางเดินเรือที่มีอยู่แล้ว เช่น เส้นทางคลองสุเอซหรือช่องแคบฮอร์มุซ ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะทำให้เกิดเส้นทางการค้าที่หลายหลากมากขึ้น
(4) เกิดการจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการระเบียงเศรษฐกิจ IMEC เช่น ถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ จะช่วยให้เกิดการจ้างงานขึ้นในแต่ละประเทศสมาชิก
(5) เกิดความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและบริการ รวมถึง supply chain ระหว่างประเทศสมาชิก
(6) ดึงดูดการลงทุน ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากทั้งภาครัฐและเอกชน
(7) การได้รับประโยชน์ของอุตสาหกรรม นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ท่อไฮโดรเจน และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะได้รับประโยชน์จากระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ด้วย
(8) การได้รับประโยชน์จากพลังงานสะอาด ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับประโยชน์จากความมั่นคงด้านพลังงาน อันเป็นผลมาจากการที่ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เช่น ไฮโดรเจน
(9) อำนวยความสะดวกการค้าโลก ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะช่วยอํานวยความสะดวกการค้าโลก จากการที่ประเทศสมาชิกมีพลวัตในด้านการค้าระหว่างประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
(10) เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ประเทศสมาชิกจะสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากการเข้าถึงเส้นทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงความสามารถในการดึงดูดการลงทุน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นด้วย
ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์
จากประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว โครงการความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ยังมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยเช่นกัน ได้แก่
(1) เพิ่มอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะทำให้ประเทศสมาชิกมีความสำคัญและบทบาทในระดับโลกมากขึ้น
(2) ความมั่นคงด้านพลังงาน การที่ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อาทิ ท่อส่งไฮโดรเจนและการเชื่อมต่อสายเคเบิลไฟฟ้า ซึ่งสะท้อนถึงการมีห่วงโซ่ด้านพลังงานที่มั่นคงของประเทศสมาชิกด้วย
(3) เกิดการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น ประเทศที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันจะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้
(4) เกิดการเชื่อมโยง ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ด้วยการเพิ่มศักยภาพและการเข้าถึงการสื่อสารและข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้อยู่ในช่วงวิกฤตหรือสถานการณ์โลกที่ผันผวน
(5) เกิดการสร้างเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจและการบูรณาการผ่านระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะสามารถสร้างเสถียรภาพของภูมิภาคได้ อาทิ เมื่อประเทศสมาชิกมีเศรษฐกิจที่ดี จะสามารถลดทอนการเกิดความขัดแย้งได้ด้วยเช่นกัน
สรุป
ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC นอกจากจะเป็นโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานและข้อมูลข่าวสารระหว่างเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรปแล้วนั้น ระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะสามารถเข้ามามีบทบาทในด้านการค้าโลก การเชื่อมต่อและประสานความร่วมมือและความมีเสถียรภาพระหว่างภูมิภาค
ทั้งนี้ สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ (MGR online) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังมีมุมมองต่อโครงการความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ IMEC โดยมองว่าจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลกับโครงการริเริ่มหนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน เนื่องจากระเบียงเศรษฐกิจ IMEC จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเศรษฐกิจทางเลือกสำคัญ นอกเหนือจากโครงการ BRI อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน อาจกระทบต่อแผนการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจ IMEC ที่ต้องชะลอออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทย โครงการความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจ IMEC นี้ จะเป็นประโยชน์และสร้างโอกาสทางการค้าอย่างยิ่ง โดยจะเปิดประตูให้ไทยเชื่อมต่อเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรปได้อย่างมีพลวัตมากขึ้นในอนาคต
แหล่งข้อมูล
- (1) https://twitter.com/Galadriel_TX/status/1701327521432699003
- (2) https://twitter.com/Galadriel_TX/status/1747828616136642923/photo/1
- (3) https://mgronline.com/around/detail/9660000081746
- (4) https://mgronline.com/china/detail/9660000084259
- (5) https://intsharing.co/2023/09/13/%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2/
- (6) https://www.ditp.go.th/ja/post/148709
- (7) https://www.drishtiias.com/daily-updates/daily-news-analysis/india-middle-east-europe-corridor
- (8) https://carnegieendowment.org/sada/91214
- (9) https://observerdiplomat.com/assessing-the-geopolitical-impact-of-the-india-middle-east-europe-economic-corridor/
- (10) https://www.linkedin.com/posts/indus-protech-solutions-ltd_g20-g20summit-g20india-activity-7112307307706810368-YjH0/
- (11) https://theinvisiblenarad.com/imec/