พรรค Social Democratic Party (SPD) พรรค Greens และพรรค Free Democratic Party (FDP) ได้แถลงร่างข้อตกลงร่วมต่อ 4 นโยบายสำคัญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ดังนี้
.
(1) นโยบายด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกำหนดกรอบเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันของตลาดภายในเยอรมนีและใน EU รวมถึงเร่งขยายการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อีกทั้งวางเป้าหมายและมาตรการของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) สนับสนุนการลงทุนที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม การเปลี่ยนโครงสร้างยานยนต์แบบสันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 15 ล้านคันภายในปี ค.ศ. 2030 และ (2) ผลักดันเยอรมนีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous car)
.
(2) นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศในทุกระดับทั้งในเยอรมนี EU และระดับนานาชาติ และเตรียมผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงวางเป้าหมายและมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ (1) ตั้งเป้าหมายบรรลุ Climate neutrality ภายในปี ค.ศ. 2045 และพัฒนาพระราชบัญญัติปกป้องสภาพภูมิอากาศเยอรมนี (Federal Climate Change Act) โดยเร่งออกกฎหมายและมาตรการด้านต่าง ๆ (2) กำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและประเมินผลลัพธ์ด้านสภาพอากาศในทุกปี และ (3) เสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีในด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงานภายใต้กรอบความตกลงปารีส และ The Agenda 2030 โดยจะใช้เวทีการประชุม G7 ซึ่งเยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 2022 ในการสร้างพันธมิตรด้านสภาพภูมิอากาศ และจัดตั้ง International Climate Club สำหรับทุกประเทศ
.
(3) นโยบายด้านพลังงาน โดยกำหนดเป้าหมายและมาตรการ ได้แก่ (1) เร่งขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียน ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมในประเทศภายในปี ค.ศ. 2030 ที่จำนวน 680-750 TWh (TeraWatt-hour) โดยวางเป้าหมาย 80% มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นไป รัฐบาลเยอรมนีจะแบกรับภาระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (EEG-Umlage) ทั้งหมดไปจนกว่าจะยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินได้สำเร็จ (2) ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักในช่วงเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานภายใต้ชื่อโครงการ H2 ready โดยจะเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถรองรับการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในอนาคตได้ด้วย และ (3) การยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน (coal phase-out) จะพยายามยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2030
.
(4) นโยบายด้านแรงงาน โดยเตรียมดำเนินการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำจาก 9.60 ยูโร/ชั่วโมงเป็น 12 ยูโร/ชั่วโมง
จากข้อมูลข้างต้น นโยบายทั้ง 4 ด้านของเยอรมนีเป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเยอรมนีไปสู่ความยั่งยืนด้วยการผลักดันของรัฐบาลเพื่อสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของไทยที่ผลักดันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงานที่มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนและสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนกับเยอรมนี เพื่อการเติบโตทางอุตสาหกรรมด้านพลังงานดังกล่าวของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งภาคเอกชนไทยสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนที่เยอรมนีมีศักยภาพมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยในอนาคต
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเยอรมนีต้องคำนึงถึงต้นทุนแรงงานที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเตรียมรับมือและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน