กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) จัดการหารือทางไกล (Consultation Workshop) กับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ 6 แห่งในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ประเมินสถานการณ์ที่น่าติดตามในพื้นที่ และบูรณาการภารกิจทีมประเทศไทยเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs และนักลงทุนไทยให้สามารถเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุน และคำแนะนำทางการเงิน รวมทั้งโอกาสและสิทธิประโยชน์จากการค้าการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพในตลาดเป้าหมายได้มากขึ้น สรุปสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ EXIM Bank พร้อมผู้บริหารและหัวหน้าสำนักงาน EXIM Bank 4 ประเทศ ในกรุงพนมเปญ เวียงจันทน์และแขวงสะหวันนะเขต กรุงย่างกุ้ง และนครโฮจิมินห์ ได้ร่วมนำเสนอบริการของ EXIM Bank ที่พร้อมสนับสนุนนักธุรกิจและนักลงทุนไทยแบบครบวงจร (ต้นน้ำถึงปลายน้ำ) ตั้งแต่การให้ความรู้ด้านการเงินและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเป้าหมายในลักษณะ market intelligence การให้คำแนะนำทางการเงิน สินเชื่อ และการประกันความเสี่ยง พร้อมนำเสนอ ‘buyers’ credit’ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติสามารถขอรับสินเชื่อได้โดยตรง หรือผ่านวงเงินกู้ของสถาบันการเงินท้องถิ่น เพื่อขยายการค้าการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งถือเป็นตลาดแรกและตลาดหลักที่ผู้ประกอบการไทยที่เริ่มก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ
.
นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ รายงานว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโต อย่างก้าวกระโดด สามารถดึงดูดนักลงทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ อีกทั้งยังได้รับสถานะ Most Favoured Nation (MFN) ซึ่งจะได้เปรียบทางการค้า/การส่งออกมากกว่าชาติอื่น
ด้าน สปป. ลาว นางสาววราทิพย์ ศุภชวโรจน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และนายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ชี้จุดเด่นของลาวในการเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกไปยังจีน และสิทธิพิเศษทางการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สิทธิพิเศษด้านภาษีและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงสะหวันนะเขต และประเด็นด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากอยู่ในช่วงการเริ่มต้นพัฒนาและได้นำร่องในการให้บริการของภาครัฐแล้ว
สำหรับเมียนมา นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้ข้อมูลประเด็นสภาวะเศรษฐกิจของพม่าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง เสถียรภาพระบบการเงินการธนาคาร และการปรับเปลี่ยนกระทรวงที่รับผิดชอบประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมและแรงงาน โดยอุตสาหกรรมเมียนมาที่มีศักยภาพโดดเด่น ได้แก่ ภาคพลังงาน ที่อุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานสำคัญของไทย และภาคการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นที่ต้องการสูงในตลาด เป็นโอกาสของนักลงทุนไทยและต่างชาติที่มีฐานการผลิตหรือการลงทุนในไทยอยู่แล้ว สามารถขยายฐานการผลิตสู่เมียนมา ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เวียดนาม เป็นประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน โดยนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ให้ข้อมูลว่า เวียดนามมีปัจจัยโดดเด่นที่ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งในระดับนโยบายที่รัฐมุ่งพัฒนาโซนอุตสาหกรรมครอบคลุม 4 ภาคของประเทศ นโยบายการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโครงสร้างซึ่งมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก มีระบบ e-commerce ที่เข้มแข็งและมี FTA ถึง 13 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 56 ประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจสู่สถานะประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) ภายในปี ค.ศ. 2030 และประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี ค.ศ. 2045 ได้ไม่ยาก โดยนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ กล่าวสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลด้านระบบธุรกิจอัจฉริยะ (business intelligence) ระหว่างหน่วยงานทีมประเทศไทย เช่น ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ (Business Information Center – BIC) ของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กับสำนักงาน EXIM Bank ในต่างประเทศ และการร่วมสำรวจตลาดในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เมืองเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม
การจับมือกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ EXIM Bank เพื่อบูรณาการการทำงานและสนับสนุนภาคเอกชนสู่ตลาดต่างประเทศจะเป็นความหวังของผู้ประกอบการไทยที่วางแผนขยายการค้าการลงทุนใน ประเทศ CLMV เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนไทยในมิติต่าง ๆ ได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (business intelligence) การเงิน การตลาด ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความช่วยเหลือทางเทคนิค (technical assistance)