เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 Asia House ร่วมกับองค์กร Broad Network สมาคมผู้บริหารภาคเอกชนของเดนมาร์ก และ Danish Foreign Policy Society ได้จัดการบรรยายเรื่อง Geopolitical Risk in China: A Nuanced Big Picture Understanding ที่ Asia House กรุงโคเปนเฮเกน โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
จากการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และแนวโน้มความสัมพันธ์ของสองประเทศมหาอำนาจที่ยังคงไม่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้จีนต้องปรับตัวเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยการดำเนินความสัมพันธ์ที่มากขึ้นกับยุโรปและออสเตรเลีย เช่น การดำเนินนโยบายฟรีวีซ่ากับ EU การเปิดรับภาคธุรกิจจากยุโรปที่มากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้นด้วย เนื่องจากจีนมีความต้องการผู้ที่มีทักษะ (expertise) และการลงทุน (FDI) จากต่างชาติ
นอกจากนี้ จีนยังมีการคิดค้นนวัตกรรม พร้อมกับให้การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และการป้องกันการสอดแนมเชิงพาณิชย์ จึงทำให้ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในจีนมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งจีนจะแบ่งปันเทคโนโลยี และ best business practice ให้แก่คู่ค้าด้วยเช่นกัน
การลงทุนในจีนของเดนมาร์ก
จากข้างต้น ภาคเอกชนของเดนมาร์กได้ให้ความสนใจในการบรรยายดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีบริษัทเดนมาร์กต้องการขยายการลงทุนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาพลังงานและเวชภัณฑ์ เช่น บริษัท Sondex และ Novozymes ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เดนมาร์กดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยยึดถือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้ามากกว่าค่านิยมทางการเมือง โดยเฉพาะกับจีนซึ่งบริษัทเดนมาร์กมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่มาก
โดยมีบริษัทเดนมาร์กลงทุนในจีนกว่า 500 บริษัท ส่วนใหญ่มีการตั้งฐานการผลิตในจีน สินค้าที่ผลิตจากโรงงานในจีนยังได้จำหน่ายในจีนเป็นหลัก และกระจายการลงทุนมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียด้วย เพื่อส่งสินค้าจำหน่ายตลาดใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน และเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการชะงักของห่วงโซ่อุปทานซึ่งที่ผ่านมาพึ่งพาจีนเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของบริษัทเดนมาร์กที่จะ ลงทุนในจีนและในเอเชียในภาพรวม แต่ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้เดนมาร์กดำเนินนโยบายลดการพึ่งพาตลาดจีน และหันมาให้ความสำคัญกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกมากขึ้น ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในด้านการค้า การลงทุน และการเดินเรือ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญของเดนมาร์ก ซึ่งการหาสมดุลระหว่างการทูตกับบูรณาการทางการค้าและการลงทุนด้วยการมุ่งเน้นที่กลยุทธ์ความเป็นหุ้นส่วนสีเขียว green transition และ green shipping จะเป็นโอกาสสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างเดนมาร์กกับประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์