ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อัตราการส่งออกสินค้าและบริการในเดือนกรกฎาคม 2563 ลดลงร้อยละ 11.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลข GDP ของไทยไตรมาสที่ 2/2563 ติดลบร้อยละ 12.2 และคาดการณ์ว่า GDP ทั้งปีนี้ อาจปรับตัวลดลงในช่วงติดลบร้อยละ 7.8 ถึงติดลบร้อยละ 7.3
[su_spacer]
แม้ตัวเลขการคาดการณ์ของ สศช. จะสะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับไม่สู้ดีนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดฯ ครั้งนี้ คือ “ไทยต้องกระจายความเสี่ยงของตลาด” เพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ตลาดใหม่ ๆ สามารถเป็นแหล่งลงทุนหรือแหล่งระบายสินค้าและบริการที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายให้การค้าของไทยมากยิ่งขึ้น
[su_spacer]
หนึ่งในตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจสำหรับไทยในขณะนี้ คือ “สาธารณรัฐเช็ก” ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นโอกาสและทางเลือกสำคัญที่ไทยสามารถดึงดูดผู้ประกอบการเช็กให้เข้ามาลงทุนและพัฒนาในเขตพื้นที่ EEC อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในฐานะตลาดนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรจากไทย เนื่องจากผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวเช็กเป็นอย่างมาก เห็นได้จากอัตราการนำเข้ากลุ่มสินค้าอาหารไทย โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นถึง 10% และการนำเข้าสินค้าอาหารทั่วไป อาทิ ผัก ผลไม้ ซอสปรุงรส และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 5 – 7% ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย – เช็ก ในช่วงมกราคม – มีนาคม 2563 อยู่ที่ 233.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้า 117.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
[su_spacer]
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ชาวเช็กยังคงให้ความนิยมและชื่นชอบในอาหารไทยเป็นอย่างมาก แต่สินค้าไทยที่วางจำหน่ายในเช็กกลับไม่มีความหลากหลาย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก จึงได้แนะนำผลิตภัณฑ์ไทยที่มีศักยภาพแต่ยังไม่มีวางจำหน่ายในตลาดเช็ก ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือ “อาหารไทยปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน” อย่างข้าวราดแกงประเภทต่าง ๆ เช่น ข้าวราดแกงเผ็ดไก่ ข้าวราดแกงมัสมั่นไก่ ข้าวราดแกงเขียวหวานไก่ และข้าวราดแกงกะหรี่ไก่ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF สาขาเบลเยียม ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานหลากหลายประเภท เพื่อต้องการเจาะตลาดเบลเยียมและประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การขยายฐานของ CPF ไปยังตลาดยุโรป แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยมีความพร้อมในการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นใบเบิกทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็กสามารถขยายตลาดเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปได้ง่ายมากขึ้น และผลดีต่อรัฐบาลไทยในฐานะกำลังสำคัญที่ช่วยเสริมแกร่งในการขับเคลื่อน ‘นโยบายครัวไทยสู่ ครัวโลก’ ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างความพร้อมสำหรับการจัดส่งสินค้าดังกล่าวไปขายที่เช็ก เพื่อเป็นตลาดแหล่งใหม่ในการกระจายสินค้าสินค้าอาหารไทยปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน และช่วยให้ผู้บริโภคชาวเช็กเข้าถึงอาหารไทยได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม ตลาดเช็กยังคงมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้การส่งออกสินค้าด้านอาหารเพื่อนำไปผลิตและจัดจำหน่ายในเช็กโดยผู้ประกอบการไทย สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคชาวเช็กที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าว ประกอบด้วย (1) พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเช็กไม่คุ้นเคยกับการปรุงอาหารไทย เพื่อรับประทานเองภายในครัวเรือน (2) ผู้บริโภคชาวเช็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นสินค้าราคาถูก โดยราคาของอาหารไทยปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานควรมีราคาอยู่ที่ 4 – 4.5 ยูโรต่อกล่อง (หากคิดเป็นราคาไทยจะอยู่ที่ประมาณ 148.26 – 166.80 บาทต่อกล่อง) ซึ่งเป็นราคาระดับเดียวกับสินค้าจากประเทศอื่น อาทิ เวียดนาม จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำของเช็ก และ (3) เวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดเช็ก เนื่องจาก ปัจจุบันมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในเช็กประมาณ 70,000 – 100,000 คน เป็นชุมชนชาวเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในเช็ก เป็นผลให้การนำเข้าสินค้าอาหารเอเชียเข้าสู่ตลาดเช็ก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเวียดนาม ถูกวางจำหน่ายในเช็กอย่างแพร่หลายและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดเช็กมากกว่าผลิตภัณฑ์ของไทย
[su_spacer]
แม้ข้อจำกัดของตลาดเช็กอาจเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการไทยต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจในรสนิยม วัฒนธรรมการกินของผู้บริโภคชาวเช็ก และทิศทางของคู่แข่งทางการตลาดโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกจากเอเชีย อาทิ เวียดนาม และจีน ซึ่งส่งออกสินค้าอาหารที่มีลักษณะและรสชาติที่คล้ายคลึงกับไทยไปยังตลาดเช็กและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งโอกาสและช่องทางการส่งออกสินค้าอาหารของผู้ประกอบการไทยไปยังเช็ก นอกเหนือจาก CPF คือ บริษัท Tamda Foods หนึ่งในผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียและไทยที่ใหญ่ที่สุดในเช็ก มีความประสงค์จะนำเข้าสินค้าอาหารไทยปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ประกอบด้วย กระเทียมกรอบปรุงรส พริกกรอบคลุกงา มะม่วงอบแห้ง ฟักทองทอดกรอบ และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หนังไก่ทอดและหมูหยอง ซึ่งบริษัท Tamda Foods ให้ความเห็นว่า สินค้าดังกล่าวสามารถนำมาเป็นกับแกล้มที่รับประทานคู่กับการดื่มเบียร์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลัก และสอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของผู้บริโภคชาวเช็กอีกด้วย
[su_spacer]
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ไปยังต่างประเทศ ตลาดเช็กถือเป็นตลาดที่น่าจับตามองและเป็นช่องทางสำคัญที่จะพลิกวิกฤตทางการค้าไทยในระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย หลังการแพร่ระบาดคลี่คลายหรือสิ้นสุดลงในอนาคต
[su_spacer]
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ info@globthailand.com
[su_spacer]
ที่มาเพิ่มเติม:
http://www.ops3.moc.go.th/thtrade/sarup.htm
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10518&filename=QGDP_report
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5176&filename=QGDP_report
https://www.thansettakij.com/content/world/435613
https://www.wearecp.com/brandinside-150563/
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก