จากบทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัญหาผมร่วงและผมบางที่คนจีนยุคใหม่กำลังประสบปัญหา และวิธีแก้ไขด้วยการใช้แชมพูป้องกันผมร่วง จนส่งผลให้ธุรกิจสินค้าป้องกันผมร่วงสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้กว่า 10,000 ล้านหยวน โดยเฉพาะการทำตลาดผ่านช่องทาง E-Commerce ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลรวมกว่า 6.1 ล้านล้านหยวน (953 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็น 47% ของยอดค้าปลีกดิจิทัลทั่วโลก และจะยังคงยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทวิจัย eMarketer ที่ชี้ว่าจะมียอดขายถึงประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เพื่อเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก
[su_spacer]
ช่องทางออนไลน์เปรียบเสมือนช่องทางลัดสำหรับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการไทย ซึ่งต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจในจีน เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใช้ต้นทุนต่ำและเข้าถึงลูกค้าได้มาก ทั้งนี้ ระบบการค้าออนไลน์หรือที่เรียกว่าออนไลน์แพลตฟอร์มในตลาดจีนมีจำนวนมากและหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) E-Commerce แบบทั่วไป ซึ่งเป็นช่องทางที่เกิดขึ้นเป็นช่องทางแรกสำหรับการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ในประเทศจีน และเป็นช่องทางที่เปิดมานานทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคมั่นใจและคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยผู้ให้บริการหลัก ได้แก่ Taobao Tmall Dangdang และ JD.com (2) Cross-border E-Commerce หรือการค้าขายแบบนำเข้าและส่งออกผ่านช่องทาง E-Commerce ซึ่งรัฐบาลจีนมีมาตรการผ่อนผัน และกฎระเบียบที่เอื้อให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีนได้ง่ายขึ้น แต่การทำ Cross-border E-Commerce นั้นยังไม่เหมาะกับ SME ไทยที่ไม่มีประสบการณ์ เพราะมีเรื่องภาษี ระบบการเรียกเก็บเงิน และรูปแบบโลจิสติกส์ที่ซับซ้อนกว่าการซื้อมาขายไปในประเทศอยู่มาก โดยผู้ให้บริการหลัก ได้แก่ Tmall Global และ JD Worldwide
[su_spacer]
การนำเข้าสินค้าเข้าสู่ตลาดค้าออนไลน์ในจีนสามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้ (1) การนำเข้าผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือคนกลางที่ขายสินค้าบน Online Platform ของจีน ทั้งที่เป็นแบบ Business-to-Consumer (B2C) หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป และแบบ Consumer-to-Consumer (C2C) หรือการทำธุรกิจที่ติดต่อกันโดยตรงระหว่างลูกค้ารายย่อยที่ซื้อขายกันเอง จึงมักมีตัวแทนรวบรวมสินค้าไว้ด้วยกัน แล้วจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ อาทิ สร้างโฮมเพจ สร้างระบบเก็บเงิน สร้างระบบส่งของ (2) บริษัทรับบริหารร้านค้าออนไลน์ (3rd Party Platform) เป็น Website หรือบริษัทที่รับบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจออนไลน์ในประเทศจีน อาทิ Jingpaidang.com (3) การลงทะเบียนเปิดร้านค้าผ่าน Website ตัวกลางในการขายสินค้าออนไลน์ของจีนด้วยตนเอง อาทิ Taobao และ Tmall (4) การเปิดบริษัทที่ไทยและส่งตรงสินค้าจากไทยผ่าน Website ตัวกลางขายสินค้าออนไลน์ Cross-Border E-Commerce ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น Website ขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในจีนอยู่แล้ว เช่น International Tmall JD Worldwide
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี การเข้าทำตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์ ควรคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน และรู้ว่าใครคือเป้าหมายหลัก เช่น คนจีนรุ่นใหม่ประสบปัญหาผมร่วงมากขึ้นและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ หลังจากนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องเลือกช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าและกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ควบคู่ไปกับการทำการตลาดต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจจากบริษัทวิจัยตลาดโลกอย่าง Mordorintelligence ได้ยืนยันว่า สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Weibo และ Wechat มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดธุรกิจรักษาผมร่วง บวกกับแนวโน้มเทรนด์การตลาดดิจิทัลที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้การตลาดออนไลน์ของจีนได้เติบโตเป็นอันดับหนึ่งของโลก
[su_spacer]
การสื่อสารโดยใช้ภาษาจีนยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยและกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน การดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการขายจึงจะต้องใช้ภาษาจีน ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การนำเสนอ และการบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดจีนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสินค้าของไทยเป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะคุณภาพสินค้า จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะนำสินค้าเข้าไปเปิดตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์
[su_spacer]
ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการไทยควรมีเครือข่ายและพันธมิตรในจีน เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเข้าสู่ตลาดการชำระเงิน การจัดส่งสินค้า รวมถึงการให้บริการหลังการขายซึ่งผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างคาดหวังกับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีความรอบคอบในการเลือกพันธมิตรที่น่าเชื่อถือ และมีความเชี่ยวชาญทางด้าน E-Commerce ในจีนอย่างแท้จริง และไม่ลืมที่จะจดลิขสิทธ์และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนการนำเข้าสินค้า กฎระเบียบ การหาพันธมิตร อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยให้การเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง