วิกฤตการณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดวิวัฒนาการครั้งใหญ่ในโลกอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก คือ การเปลี่ยนผ่านจากยุค “รถยนต์สันดาป” ไปใช้ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รถ EV” (electric vehicle)
ต้องบอกว่า กระแสรถ EV กำลังมาแรงในจีน (และทั่วโลก) จนทำให้ค่ายผลิตรถยนต์หน้าเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ต่างเดินหน้าขับเคี่ยวกันเข้มข้นในการพัฒนาวงจรธุรกิจของตนไปสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า”
“เมืองหลิ่วโจว” (Liuzhou City) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก็ไม่ยอมตกขบวนเช่นกัน บนพื้นฐาน อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่งกับการเป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงที่สำคัญของจีน ภาครัฐและเอกชนของเมืองหลิ่วโจวได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิตรถยนต์ทั้งองคาพยพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
‘ในปี พ.ศ. 2565 เมืองหลิ่วโจวมีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือก 666,000 คัน เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ครองส่วนแบ่ง 1/10 ในตลาดจีน’
กล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ เป็นกุญแจความสำเร็จของเมืองหลิ่วโจวในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถยนต์เชื้อเพลิงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยี และนวัตกรรมในรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” หรือ EV Lab เป็นแพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่มีมาตรฐานสูงสุดและมีความสำคัญระดับประเทศ (มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา Core technology และนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์) โดยมีบริษัท SGMW เป็นแกนนำหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซี สถาบันวิจัยยานยนต์กว่างซี ศูนย์ทดสอบคุณภาพยานยนต์แห่งชาติจีน (สาขากว่างซี) และพร้อมเปิดรับหน่วยงาน/องค์กร/สถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย รวมถึงการพัฒนาและใช้ชิปรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนผลิตเอง
การส่งเสริมดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ (คลัสเตอร์อุตสาหกรรม) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 งานจับคู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกและเครื่องจักรกลที่จัดขึ้นที่นครหนานหนิง ซึ่งภายในงานมีการลงนามโครงการลงทุน 20 โครงการพบว่า เมืองหลิ่วโจวเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจมากที่สุด โดยสามารถคว้าโครงการลงทุนไปได้ 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 8,328 ล้านหยวน อาทิ การวิจัยและผลิตระบบเกียร์ไฮบริดแบบ DHT (Dedicated Hybrid Transmission) และระบบเกียร์ไฮบริดแบบ DHE (Dedicated Hybrid Engine) เครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน รวมถึงระบบโลจิสติกส์คลังสินค้าและการประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ชุดประดับยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ
ปัจจุบัน เมืองหลิ่วโจวมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานค่อนข้างครบวงวจร โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์พลังงานทางเลือก (3 ราย) ชิ้นส่วนยานยนต์ (300 กว่าราย) แบตเตอรี่ ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และมีก้าวสู่ตลาดสากลด้วยการก้าวออกไปลงทุนจัดตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าที่เกาะชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย
ในแง่ของการสร้างแรงจูงใจในการใช้รถ EV นั้น ความร่วมแรงร่วมใจของรัฐบาลและเอกชนในเมืองหลิ่วโจวเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้รถ EV ทั้งการจัดแคมเปญลดแลกแจกแถมเพื่อสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งและเพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การจัดสรรที่จอดรถยนต์ไฟฟ้าฟรี การอนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนช่องเดิน รถเมล์ และการสนับสนุนบริการแชร์รถยนต์ไฟฟ้า (EV-sharing)
เจ้าหน้าที่ของกรมอุตสาหกรรมและสารสนเทศของเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou Industry and Information Technology Bureau) เปิดเผยว่า เมืองหลิ่วโจวตั้งเป้าหมายว่า ในปี พ.ศ. 2568 ห่วงโซ่อุตสาหกรรม รถยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจวจะมีมูลค่ารวมทะลุ 500,000 ล้านหยวน และสร้างให้เมืองหลิ่วโจวเป็น Highland ของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกระดับสากลที่มีนวัตกรรมสูง มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบสมบูรณ์ มีความเปิดกว้าง ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค
ด้วยพื้นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คล้ายคลึงกันของประเทศไทยกับเมืองหลิ่วโจว (เป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป) BIC เห็นว่า ‘หลิ่วโจวโมเดล’ เป็นต้นแบบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทย สามารถนำไปเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดได้ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมเดิม แสวงหาช่องทางความร่วมมือกับเมืองหลิ่วโจวในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการผลิต รวมถึงขับเคลื่อนและยกระดับให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยก้าวสู่ปฐมบทใหม่
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง/ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
- จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
- เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
- ที่มา เว็บไซต์ www.smelz.com.cn(柳州中小企业网) วันที่ 31กรกฎาคม 2566
- เว็บไซต์ http://paper.people.com.cn(人民日报) วันที่ 16 มิถุนายน 2566