โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
.
เมื่อการพัฒนาเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของจีนในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม มลภาวะ ความแออัดของประชากร ส่งผลให้จีนพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มีความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณค่าทางนิเวศวิทยา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
.
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนมณฑลเสฉวนและกล่าวถึงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เมืองสวนสาธารณะ (Park City)” เป็นครั้งแรก โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เดินตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาการวางผังเมืองร่วมกันโดยใช้เมืองสวนสาธารณะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมให้จีนเป็นประเทศที่สวยงาม ทั้งนี้ การพัฒนารูปแบบดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสวนสาธารณะในเมืองเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหา “โรคของเมืองขนาดใหญ่” ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเมืองใหญ่ รวมถึงความต้องการในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในเดือนมกราคม 2563 นายสี จิ้นผิง ได้ยืนยันเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจนในการผลักดันให้นครเฉิงตูกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาตามแนวคิด “Park City Demonstration Zone” หรือเขตสาธิตเมืองสวนสาธารณะ
.
การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุลตาม BCG Model
.
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวคิด “Park City” ของนครเฉิงตู ที่เน้นการพัฒนาเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวผ่านการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาปรับใช้ โดยเชื่อว่าประสิทธิผลของการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ เมือง และการดำรงชีพของประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)
.
โมเดลเศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลทรัพยากรธรรมชาติกับการสร้างมูลค่า (value creation) หรือกล่าวได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) สาขาเกษตรและอาหาร (2) สาขาพลังงานและวัสดุ (3) สาขาสุขภาพและการแพทย์ และ (4) สาขาการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่การพัฒนา มีการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบมลพิษ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
.
“นครเฉิงตูกับแผน Park City ที่เป็นรูปธรรม”
.
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2563) นครเฉิงตูได้ยืนหยัดในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของนายสีฯ เพื่อเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมืองที่ยึดหลักการที่มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว มีอารยธรรมทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายควบคู่ไปกับการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างแหล่งชุมชนและสวนสาธารณะ และมุ่งมั่นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเปิด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองขนาดใหญ่
.
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้ประกาศแผนพัฒนาเขตใหม่เทียนฝู่ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยการจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วยเงินทุน 2,000 ล้านหยวน และได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 เพื่อเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการลงทุน การสร้างความร่วมมือ การเป็นเมืองทันสมัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนานโยบายข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และรองรับการพัฒนาของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง
.
คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์นครเฉิงตู ได้ตั้งเป้าว่า พื้นที่สาธารณะใหม่จะต้องแล้วเสร็จในปี 2568 และยกระดับให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ กลายเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อรองรับการพัฒนาแบบ One Growth Pole & Two Centers ของจีน โดยในปี 2578 นครเฉิงตูจะกลายเป็นเมืองสวนสาธารณะสาธิตแห่งใหม่ที่เป็นต้นแบบระดับประเทศและเป็นประตูสู่สากล พร้อมด้วยระบบห่วงโซ่มูลค่าด้านการเงิน การค้า การลงทุน ศูนย์กลางเครือข่ายทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่ครบครัน เพื่อเป็นส่วนช่วยผลักดันบทบาทของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่งในเวทีระดับโลก
.
จากการที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม The 2nd Park City Forum ณ Western China International Expo City เขตใหม่เทียนฝู่ นครเฉิงตู เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 จัดโดยรัฐบาลนครเฉิงตู และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 300 คน ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ทราบว่า รัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามมุ่งเน้นการพัฒนาด้านนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีคุณภาพ หลักการสำคัญของการพัฒนาเมืองสวนสาธารณะของนครเฉิงตูคือ การประยุกต์ใช้นโยบายการพัฒนาแบบ Park City + TOD (Transit – Oriented Development) โดยมีสถานีขนส่งมวลชนมากขึ้น เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สำหรับที่ตั้งสำนักงาน ที่พักอาศัย รวมถึงแหล่งช็อปปิ้ง โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีระยะห่างจากสถานีขนส่งมวลชนประมาณ 600 เมตร หรือใช้เวลาเดินระหว่างพื้นที่ดังกล่าวไปยังสถานีขนส่งเพียง 10 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์และพื้นที่สำหรับความบันเทิง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นครเฉิงตูนับได้ว่าเป็นอีกเมืองที่มีการพัฒนา TOD อย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งในโลก ในช่วงปี 2560 นโยบายการพัฒนาดังกล่าวเริ่มได้รับการผลักดันจากรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ทางการของสำนักงานวางแผนและจัดการทรัพยากรธรรมชาตินครเฉิงตู ได้ประกาศแผนออกแบบเมืองแบบบูรณาการ TOD ที่สำคัญหลายโครงการ โดยโครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญคือ Luxiao Station TOD (陆肖站TOD) จัดอยู่ในโครงการ TOD ชุดแรก ตั้งอยู่บริเวณถนนจงเหอ ในเขตไฮเทคโซน ประกอบด้วย ย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District CBD) ต้าหยวน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก มี Xinchuan Science and Technology Park อยู่ทางทิศใต้ และมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 6 (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) และสาย 22 (แผนการระยะยาว) ที่ห่างจากใจกลาง Luxiao Station TOD (陆肖站TOD) 400 เมตร
.
.
การพัฒนาคมนาคมในระบบ TOD ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างระบบการขนส่งสีเขียวเพื่อบรรเทาความแออัดของเมืองและลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างรูปแบบเมืองใหม่ บนพื้นฐานของนวัตกรรมและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ กล่าวได้ว่า TOD จะเป็นการเติมเต็มระบบการขนส่งสีเขียวที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในระบบขนส่ง เป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Development) และเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของนครเฉิงตู ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล นอกจากนั้น การพัฒนาสีเขียวยังมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาด้านนวัตกรรม การค้า และการเงิน โดยคาดว่าในปี 2565 นครเฉิงตูจะกลายเป็นเมืองชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงเป็นเมืองที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำในประเทศจีน
.
ความสำเร็จในการพัฒนานิเวศวิทยาและรักษาสิ่งแวดล้อม
.
โดยที่การพัฒนาเมืองสาธารณะจะต้องส่งเสริมทั้งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ และคุณค่าทางนิเวศวิทยาด้วย รัฐบาลนครเฉิงตูได้ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนด 10 มาตรการการพัฒนาสีเขียวในปี 2559 – 2578 เพื่อพัฒนาโครงการสำคัญ เช่น เร่งสร้างถนนเทียนฝู่สีเขียว สร้างสวนสาธารณะหลงฉวน ฟื้นฟูพันธุ์พืช ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถัน ลดมลพิษทางอากาศระหว่างการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควบคุมการใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร สุ่มตรวจรถบรรทุก ส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ ดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมมลพิษทางน้ำ ดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมระดับมลพิษของดินในพื้นที่การเกษตร เร่งสร้างโรงบำบัดน้ำเสียและโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย ปลูกป่าให้มีอัตราครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 39.5 ใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม และลดการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิง เป็นต้น
.
ปัจจุบัน โครงการสร้างถนนสีเขียวได้สร้างแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 4,081 กิโลเมตร โครงการ “สวนสาธารณะร้อยแห่ง” ได้สร้างสำเร็จแล้ว 35 แห่ง ได้มีการปรับปรุงป่าไม้บริเวณภูเขาหลงฉวนแล้ว 66,667,000 ตารางเมตร นับเป็นพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.9 รวมถึงมีการจัดวางนวัตกรรมระบบนิเวศแบบใหม่ถึง 14 แห่ง และมีเขตอุตสาหกรรมสีเขียว 66 แห่ง
.
ความสำเร็จในการควบคุมมลพิษของนครเฉิงตู
.
เนื่องจากนครเฉิงตูตั้งอยู่บริเวณแอ่งกะทะ ทำให้การระบายอากาศและการกำจัดมลพิษไม่ดีเท่าที่ควร นายจาง เหรินเหอ นักวิชาการประจำ Chinese Academy of Sciences ได้เสนอแนะว่า นครเฉิงตูควรส่งเสริมการหมุนเวียนระบบอากาศผ่านการออกแบบการเพาะปลูกพันธุ์พืช และใช้สายลมในอากาศเป็นตัวกลางในการปรับสภาพอากาศ เช่น การวางต้นไม้ไว้บนหลังคาอาคารสูง การทาสีขาวบริเวณหลังคา
.
นอกจากนี้ นครเฉิงตูมีการดำเนินการลดการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณมลพิษทางอากาศในนครเฉิงตูค่อย ๆ ลดลง ดัชนีความร้อนมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส / 14 ชั่วโมง ปริมาณหมอกควันต่อวันระหว่างปี 2556 – 2562 ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น ค่า PM 2.5 ระหว่างปี 2556 – 2562 เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 11.34 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี (มาตรฐานไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณภาพอากาศของนครเฉิงตูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2562 จำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศดี 287 วันโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 15 วันจากปี 2561 และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 นครเฉิงตูมีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) คุณภาพเยี่ยม 32 วัน และคุณภาพดี 44 วัน คิดเป็นร้อยละ 82.6 นอกจากนั้น ในปี 2562 คุณภาพน้ำของนครเฉิงตูอยู่ในระดับดีเยี่ยม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90.7 เมื่อเทียบกับปี 2559
.
.
แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว นครเฉิงตูจะยังคงส่งเสริมการลดคาร์บอนอย่างจริงจังผ่านโครงการ “Carbon Benefit Tianfu” โดยใช้ไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน จำแนกขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างครอบคลุม ฯลฯ สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อการวัดปริมาณคาร์บอน ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอนของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ
.
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป้าหมายในการควบคุมมลพิษของนครเฉิงตูมีความคล้ายคลึงกับของไทย ซึ่งขับเคลื่อนด้วย BCG Model ไปสู่การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การแก้ไขปัญหา PM 2.5 การกำจัดขยะและน้ำเสีย การลดโลกร้อน การลดการใช้และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสนับการสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์และสัตว์บนโลก และเป็นพื้นฐานความกินดีอยู่ดีของผู้คนในประเทศ
.
การสร้างเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการ
.
นครเฉิงตูได้ร่วมมือกับบริษัท Huawei Technologies Co. , Ltd. ในโครงการ Artificial Intelligence Big Data Center เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการในรูปแบบ One Center and Three Platforms โดย One Center คือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับบูรณาการในระดับชาติผ่าน 3 Platforms ได้แก่ (1) City Brain Platform (2) แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก (E-level) และ (3) แพลตฟอร์มนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะระดับโลก เพื่อตอบสนองความต้องการในเมืองอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม การบริหารจัดการเมือง และการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Electronic Science and Technology มณฑลเสฉวน มหาวิทยาลัยเสฉวน และมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong จัดฝึกอบรมบุคลากร นักศึกษา และจัดการศึกษานอกห้องเรียน Huawei ยังได้มีการสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในนครเฉิงตู รวมไปถึงระบบนิเวศสำหรับฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ และปฏิบัติการฐานข้อมูล เพื่อรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่การผลิตดังกล่าว อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมระบบนิเวศ Kunpeng และห้องปฏิบัติการ Huawei Kunpeng Tianfu ในนครเฉิงตู เพื่อให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ตลอดจนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจต่าง ๆ และการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมทั้งหมด เชื่อว่าในอนาคต ทุกสิ่งจะเชื่อมเข้าหากันในเมืองอัจฉริยะ เราสามารถรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบของมนุษย์ได้ผ่านการเชื่อมต่อในระบบดิจิทัลหลายแสนล้านครั้งเหล่านี้ ทำให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งผลดีต่อการปกครองและพัฒนาเมือง ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นการประมวลผลรูปแบบใหม่ที่จะเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
.
ปัจจุบันหลายจังหวัดของไทยได้พยายามพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ และชลบุรี (เมืองพัทยา) โดยได้นำข้อมูล รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ BCG Model ในการพัฒนาเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เช่น การดำรงชีวิตของผู้คน การป้องกันสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของการปกครอง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบูรณาการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย BCG Model เข้าด้วยกันจะช่วยสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข็มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
.
การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
.
แน่นอนว่าการพัฒนารูปแบบเมืองแห่งสวนสาธารณะ จะช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบด้านโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกปักหลักในนครเฉิงตู โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้ชีวิตในเมืองที่เรียบง่าย บนพื้นฐานของการก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีและความมั่งคั่ง เมื่อปลายปี 2563 สำนักงานการก่อสร้างเมืองแห่งสวนสาธารณะนครเฉิงตู ได้วิเคราะห์สถิติการพัฒนารอบด้านในการกลายเป็นเมืองสวนสาธารณะ โดยจากการสำรวจพบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลักในการพัฒนารูปแบบดังกล่าว มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.25 ระบบนิเวศสีเขียวในชุมชนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.13 ผู้ได้รับระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 ประชาชนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.38 ผู้คนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.75 อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่พัฒนาแบบสวนสาธารณะของนครเฉิงตูยกระดับขึ้น เนื่องจากมีการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้ร้านกาแฟหรือโรงน้ำชาในสวนสาธารณะกลายเป็นแหล่งพักผ่อนและแหล่งเช็คอินแห่งใหม่ ทำให้มีประชาชนทั้งในนครเฉิงตูและต่างเมืองเข้าถึงได้ง่ายและก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่คนในพื้นที่
.
สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ระบบนิเวศสีเขียวของนครเฉิงตูเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.63 ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.25 สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.88 เดือนมีนาคม 2564 เขตใหม่เทียนฝู่มีการปรับปรุงรูปแบบเมืองตามแนวคิดเมืองแห่งสาธารณะ โดยปรับลดพื้นที่อุตสาหกรรมจากร้อยละ 27.2 เป็นร้อยละ 20.6 พื้นที่อยู่อาศัยจากร้อยละ 25.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 34.1 และสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวจากร้อยละ 65.7 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70.1 และได้ปรับปรุงถนนและตรอกซอกซอย 2,059 แห่ง ปรับปรุงสนามหญ้า 600 แห่ง สร้างชุมชนสวนสาธารณะ 70 แห่ง โดยตระหนักถึงการผสมผสานรูปแบบสวนสาธารณะและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติ
.
นับได้ว่านครเฉิงตูจะเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของประชาชนตามนโยบายและเจตนารมณ์ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้ไว้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
.
บทส่งท้าย
.
เมืองสวนสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตู ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาโรคของเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรแฝงในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหามลภาวะ PM2.5 และปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งแออัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถนำหลักการหรือแนวปฏิบัติของจีนที่เร่งดำเนินการอยู่ทั้งการพัฒนาเมืองสาธารณะ เศรษฐกิจสีเขียวและเมืองอัจฉริยะ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการพัฒนา BCG Model ของไทย โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรม ไปพร้อม ๆ กับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป
.
นอกจากนั้น โดยที่นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยและจีนมีความสอดคล้องกันในหลายด้าน BCG จึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ไทยและจีนสามารถร่วมมือกันเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจและสร้างความสมดุลของการเติบโตที่ยั่งยืนของโลกหลังสถานการ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย
.
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสการประกอบธุรกิจกับต่างประเทศ ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกคัดสรรมาเพื่อท่าน ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com และท่านสามารถสอบถามหรือเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่อีเมล info@globthailand.com
.
ที่มา
https://smartcitythailand.or.th/
http://www.innovation2030.zju.edu.cn/2020/0424/c21944a2089635/page.htm
http://www.sc.gov.cn/10462/12771/2021/3/24/42cc13923e694971bb3c0d5b64e3f841.shtml
https://www.sohu.com/a/226835948_776948
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1596135227323660046&wfr=spider&for=pc