นครหนานหนิงได้มีการจัดกิจกรรม ‘การร่วมสร้างสวนอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน) – ไทย’ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกว่างซีกับประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนักธุรกิจจากสมาคนนักธุรกิจอาเซียน
เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน หรือ Guangxi-ASEAN Economy and Technological Development Zone ตั้งอยู่ในเขตอู่หมิง ชานเมืองตอนเหนือของนครหนานหนิง ห่างจากตัวเมืองราว 30 กิโลเมคร เป็น 1 ใน 5 เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับชาติของเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่มีสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนจำนวนมาก บนพื้นที่เขตพัฒนาฯ มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการประกอบธุรกิจโรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา
อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมเสาหลักของเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน โดยมี ‘สวนอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน) – ไทย’ เป็นส่วนสำคัญในเขตพัฒนานี้ โดยสวนอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน – ไทย ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อนิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศกว่างซีชุดแรกของกรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง อีกทั้งในปัจจุบันมีธุรกิจแปรรูปอาหารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าจัดตั้งธุรกิจในสวนอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 130 ราย ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเบียร์ Budwiser ผู้ผลิตเนื้อสุกร Shuanghui ธุรกิจด้านการเกษตร COFCO ผู้ผลิตนม Yili ผู้ผลิตเครื่องปรุงรส Haitian ผู้ผลิตแป้งสตาร์ช Tailian Strach ในเครือบริษัทกรุงเทพสตาชอินดัสเทรี่ยลจำกัด
คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาฯ ได้กำหนดตำแหน่งให้ สวนอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน) – ไทย เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับประเทศไทย โดยมีโครงสร้างการลงทุนของบริษัท T.C. Pharmaceutical Industries Co.,Ltd. เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์กระทิงแดงเป็นโครงการนำร่องและส่งเสริมภาคธุรกิจในสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ ในการนำเข้า-ส่งออกและวัตถุดิบกับประเทศไทย รวมทั้งจะพัฒนาให้สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นฐานอุตสาหกรรมอาหารสีเขียวระดับนานาชาติของภูมิภาคด้วย
นับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เขตพัฒนาฯ มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเกือบเป็น ¼ เป็นเงินลงทุนโดยตรงจากธุรกิจไทย (สัดส่วนราวร้อยละ 23) นอกจากนี้เขตพัฒนาฯ ยังผลักดันการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ (โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต) ในสังกัดมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราของประเทศไทยด้วย เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตไทยสามารถพิจารณา สวนอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน) – ไทย ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี – อาเซียน ของนครหนานหนิงเป็นจุดเริ่มต้นในการบุกเบิกตลาดจีน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านที่ตั้ง ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนในเขตพัฒนาฯ ระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและรวดเร็วในการลำเลียงสินค้าที่ผลิตในนครหนานหนิงเพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ หนานหนิง