ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากการส่งออกมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวธรรมชาติของไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนแล้ว อีกโอกาสและเทรนด์ปัจจุบันที่น่าจับตามองคือ “เครื่องดื่มมะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูปแบบใหม่” ซึ่งเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ของผู้บริโภคในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของจีน
ปัจจุบัน เครื่องดื่มมะพร้าวในจีนส่วนใหญ่ใช้นมมะพร้าวหรือน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก โดยครึ่งปีแรกของปี 2564 มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมะพร้าวเปิดตัวในตลาดจีนมากกว่า 130 รายการ แม้กระทั่งแบรนด์อาหาร fast food ชื่อดังอย่าง KFC ก็เปิดตัวเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวกว่า 20 รายการ โดยตัวอย่างเครื่องดื่มรสชาติมะพร้าวที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน (รวมถึงนครซีอาน) ได้แก่
(1) มะพร้าวปั่นและมะพร้าวปั่นผสมผลไม้อื่น ๆ โดยใช้นมมะพร้าวและน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมพื้นฐานร่วมกับผลไม้สด เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 แบรนด์ Hey Tea ได้เปิดเมนูใหม่ 2 รายการในซีรี่ส์ “Shengda Coconut (มะพร้าวสด)” เน้นรสธรรมชาติของมะพร้าวอ่อน ไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ และสามารถดื่มได้ง่าย แบรนด์ Hey Tea ใช้มะพร้าวสดไปมากกว่า 3,200 ตันต่อปี และเมนูเครื่องดื่มมะพร้าวอยู่ในอันดับที่ 5 ของยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ขายดีของ Hey Tea ปี 2563
(2) กาแฟลาเต้มะพร้าว (Raw coconut latte) ของ Luckin Coffee ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 21 เมษายน 2564 สามารถจำหน่ายได้ถึง 100,000 แก้ว ภายใน 3 วันเท่านั้น และจากสถิติล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 กาแฟลาเต้มะพร้าว ของ Luckin Coffee มียอดจำหน่ายถึง 100 ล้านแก้ว
(3) เครื่องดื่มมะพร้าวผสมชา (ในรูปแบบชานม) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 Hey Tea ได้คิดค้นเมนูใหม่โดยผสานชาไทยร่วมกับนมมะพร้าว พร้อมตั้งชื่อน่ารักๆ ว่า “泰好喝了椰” หมายถึงอร่อยมาก (โดยเล่นคำการออกเสียงคำว่า “ไท่ 泰” หมายถึงประเทศไทย การออกเสียงเหมือนคำว่า “ไท่ 太” หมายถึง มาก ร่วมกับและคำว่า “เย 椰” หมายถึงมะพร้าว การออกเสียงเหมือนคำว่า “เย 耶” ซึ่งเป็นคำอุทานเพื่อแสดงถึงความอารมณ์ดีและเสริมความน่ารักด้วย) เมนูนี้จำหน่ายในบรรจุภัณฑ์มะพร้าวทั้งลูกด้วย ถึงแม้ว่าราคาจำหน่าย 59 หยวนต่อชุดแพงกว่าการจำหน่ายชานมมะพร้าวใส่ในแก้วปกติที่จำหน่ายในราคา 30 หยวน แต่ก็ยังมียอดขายสูง เนื่องจากตรงต่อความต้องการของผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่นิยม upload รูปถ่ายลงในสื่อ social media
รูปจากผู้ใช้แอปพลิเคชั่นเสี่ยวหงซู (Little Red Book)
นอกจากแบรนด์ Hey Tea แล้ว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ร้านเครื่องดื่มชาของท้องถิ่นมณฑลส่านซี ฉาฮั่วน่ง (Chahuanong) ก็มีการเปิดตัวเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่มีส่วนผสมเป็นนมมะพร้าว เช่น เมนู Mitaoshuimoyunye และ Guixiangshuimoyunye ซึ่งผสมนมมะพร้าวร่วมกับชาผลไม้และชาดอกไม้ แสดงให้เห็นว่า กระแสการนำนมมะพร้าวไปเพิ่มรสชาติใหม่ หรือทำเป็น functional drink กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในตลาดจีนตลอดจนในตลาดซีอานด้วย
รูปจากเว็บทางการของฉาฮั่วน่ง
จากตัวอย่างเมนูข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมนูเครื่องดื่มในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนใช้นมทางเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยหนึ่งในส่วนผสมประเภทนมที่กำลังเป็นที่นิยมล้วนแล้วแต่เป็นนมมะพร้าว เพราะนอกจากจะมีรสชาติดีสามารถเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ได้อย่างลงตัวแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพด้วย ส่วนในตอนหน้าจะเป็นเทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มในตลาดจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจมะพร้าว ทีม glob ขอเขิญชวนผู้อ่านทุกท่านโปรดติดตามตอนต่อไป
อ่านต่อ “เครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่” โอกาสใหม่ในจีนของผอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย (ตอนที่ 2)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์