เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 จีนได้อนุมัติการใช้วัคซีน Convidecia Air ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดสูดดมตัวแรกของโลก ผลิตโดยบริษัท CanSino นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติการใช้วัคซีน recombinant protein ของบริษัท Livzon Pharmaceutical Group Inc. ที่ผ่านการอนุมัติ Emergency Use Authorization (EUA) เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมจากวัคซีนของบริษัท Sinovac บริษัท Sinopharm และบริษัท Zhifei Longcom ด้วย
วัคซีน Convidecia Air ชนิดสูดดมของบริษัท CanSino ใช้เทคโนโลยีการผลิต adenoviral vector ซึ่งผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet เผยว่า วัคซีน Convidecia Air สามารถกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เซลล์ และเยื่อบุจมูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นตำแหน่งแรกที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อได้ 3 เท่า นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จีนได้เปิดเผยในบทความวิจัย ว่า (1) การใช้วัคซีนสูดดมเป็นตัวกระตุ้น (booster) หลังจากได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มแล้ว จะช่วยสร้าง antibody ต้านทานโรคโควิด-19 ได้มากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 3 เข็ม และ (2) หลังจากได้รับวัคซีนชนิดสูดดมไปแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่า 92.5% ของผู้ทดลองสามารถสร้าง antibody ต้านทานเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ได้
การใช้วัคซีนชนิดสูดดมยังมีความท้าทายในด้านกระบวนการผลิตและข้อจำกัดการเข้าถึงเครื่องมือสำหรับพ่นวัคซีน อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้อนุมัติวัคซีนดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกและช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนให้มีทางเลือกรับวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะรับวัคซีนชนิดเข็ม ปัจจุบัน จีนได้ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งข้อมูลอ้างอิงเมื่อ 9 ส.ค. 2565 มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นรวมแล้ว 820 ล้านคน ทั้งนี้ วัคซีน 2nd generation เพื่อป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ของบริษัท Sinovac บริษัท Sinopharm และ บริษัท Zhifei Longcom คาดว่าจะมีการอนุมัติในช่วงปลายปี 2565 นี้
ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์