บทความ เนื้อเน้นๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน ตอนที่ 2 จะเป็นการต่อยอดโอกาสของผลิตภัณฑ์เนื้อวัวในตลาดจีน โดยสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 จีนมีการนำเข้าเนื้อวัว 2,736,900 ล้านตัน มูลค่ารวม 110,068 ล้านหยวน หรือราว 550,000 ล้านบาท โดยจีนนำเข้าเนื้อวัวส่วนมากจากประเทศแถบอเมริกาใต้ อย่าง บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย โบลิเวีย และชิลี รวมแล้วคิดเป็น 3 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าจากทั่วโลก
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ส่วนใหญ่เป็นมณฑลเลียบชายฝั่งทะเล และเป็นมณฑลเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของจีน โดย มณฑล 3 อันดับแรกที่นำเข้าเนื้อวัวมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง (477,070 ตัน หรือร้อยละ 17.43 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ) นครเซี่ยงไฮ้ (463,411 ตัน หรือร้อยละ 16.93) มณฑลกวางตุ้ง (349,052 ตัน หรือร้อยละ 12.75)
ในระดับรัฐบาล ต้องมีความตกลงในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัยทางสัตวแพทย์เพื่อการส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปจีนระหว่างรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกกับรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดให้โรงงาน/บริษัทของประเทศ/ดินแดนที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปจีนจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก ทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อวัวดิบและที่ปรุงสุกแล้ว
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 มี 26 ประเทศที่ได้รับอนุญาตการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปจีน ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา โบลิเวีย เบลารุส ชิลี รัสเซีย คอสตาริกา ยูเครน ปานามา ไอร์แลนด์ นามิเบีย เซอร์เบีย ฮังการี แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส ลัตเวีย คาซัคสถาน แคนาดา เม็กซิโก นิการากัว โคลัมเบีย โปแลนด์ ขณะที่ปากีสถานและมองโกเลียได้รับอนุญาตเฉพาะเนื้อวัวปรุงสุก
ผลิตภัณฑ์เนื้อวัวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 98 เป็นเนื้อวัวแช่แข็ง ทั้งแบบเนื้อสเต็กหั่นสำเร็จรูปพร้อมปรุง และเนื้อวัวแช่แข็งเพื่อส่งไปแปรรูปในโรงงาน เพื่อส่งให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านอาหารต่าง ๆ
กลุ่มลูกค้าชาวจีนที่น่าสนใจ คือชาวจีน Gen Z หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540 – 2555 ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรจีน หรือราว ๆ 264 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้ขับเคลื่อนตลาดบริโภคในจีนสูงถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2578 มูลค่าการบริโภคของชาวจีน Gen Z จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 16 ล้านล้านหยวน หรือกว่า 80 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจที่ระบุว่า ชาวจีน Gen Z เลือกสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพ ไขมันและแคลลอรี่ต่ำ เน้นเติมเต็มคุณค่าทางอารมณ์ พร้อมจ่ายเรื่องการกินและซื้อเวลา (สั่งดิลิเวอรี่ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน หรือไปทานนอกบ้าน) และคำนึงถึงความปลอดภัยอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ ในจีนยังมีเทรนด์อาหาร Light Food ที่กำลังเติบโตได้ดีในกลุ่มคน Fitness และกลุ่ม Office Mom
ในส่วนของประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ไปจีนได้โดยตรง โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเแสวงหาแนวทางการกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยอาหารและข้อกำหนดของจีน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับฝ่ายจีนในการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์เพิ่มเติมให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาพฤติกรรมการบริโภคชาวจีนเพื่อนำไปวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวางแผนทางการตลาดให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน Gen Z เพื่อกรุยทางสำหรับการเปิดตลาด สินค้าไทยในจีนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง