เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ร่วมกับศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย และสำนักงานวางแผน ก่อสร้าง และบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ท่าเรือชินโจว: ประตูการค้าใหม่ของผู้ส่งออกไทยไปจีน” วัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิผู้ส่งออกสินค้าไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และสถาบันการเงิน เล็งเห็นศักยภาพของ “ท่าเรือ ชินโจวและการขนส่งผ่านโมเดล เรือ+ราง” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในฐานะประตูทางเลือกใหม่ของการ ขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน
กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้หรือเรียกอีกชื่อว่าอ่าวตังเกี๋ย ประกอบด้วย 3 ท่าเรือหลักคือ ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป่ยไห่ โดยท่าเรือชินโจวมีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือไปที่ประเทศจีนใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด และเป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้าติดอันดับที่ 44 ของโลก มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 โดยในช่วงแรกของปี 2565 มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เข้า-ออกกว่า 2.41 ล้าน TEUs และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ภายในท่าเรือชินโจว มีท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart port) แห่งที่ 5 ของจีน มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องทั้งรูปแบบเรือและราง ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSCT (New International Land and Sea Trade Corridor) ท่าเรือชินโจวได้รับการกำหนดให้เป็น International Gateway Port ที่ใช้ขนส่งสินค้าเข้ามาจีนและกระจายสินค้าไปยังมณฑลทางภูมิภาคตะวันตกของจีน ซึ่งไม่เพียงสามารถกระจายสินค้าภายในจีนได้อย่างสะดวก แต่ยังมีเส้นทางที่สามารถกระจายสินค้าต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย
โดยการขนส่งจากประเทศไทยไปจีนตะวันตกจะมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาสั้นกว่าการขนส่งแบบเดิมผ่านท่าเรือในภาคตะวันออกของจีนอย่างน้อย 10 วัน ต้นทุนลดลง และมีตลาดจีนตะวันตกเป็นตลาดเป้าหมายใหม่อีกด้วย การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือชินโจวจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปเจาะตลาดจีนตะวันตกรวมถึงใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากเรือต่อรถไฟต่อไปทาง เอเชียกลางจนถึงยุโรป
ท่าเรือชินโจวเป็นช่องทางแห่งโอกาสให้สินค้าเกษตรหลายชนิดของประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่จีนมีกำลังการผลิตกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องนำเข้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มันสำปะหลังเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในจีน โดยเฉพาะการ ส่งออกผ่านท่าเรือชินโจว เนื่องจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ และ เมืองฉงจั่ว
นอกจากนี้สินค้าผลไม้มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงฤดูผลไม้ไทยจะมีการส่งออกผลไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้ เกิดปัญหาความแออัดในการใช้ช่องทางขนส่งเดิม ท่าเรือชินโจวจึงเป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับผลไม้ไทย อีกทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่น่าจะมีโอกาสในอนาคต เนื่องจากด่านท่าเรือชินโจวเป็นด่านเพียงแห่งเดียว ของกว่างซีที่ได้รับอนุมติให้สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ได้ และปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวได้เปิด Qinzhou Port Cold Chain Bonded Trading Center ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าอาหารสดและอาหารแช่แข็งของจีนและต่างประเทศ และปัจจุบันด่านนำเข้าทุกแห่งของจีนยังมีการตรวจหาเชื้อโควิดอย่างเคร่งครัด คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า และมาตรฐานในด้านสุขอนามัยและการควบคุมตรวจสอบให้สินค้าปลอดจากเชื้อโควิดจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์