มณฑลกว่างซีเป็นมณฑลกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ของจีน มีพรมแดนติดกับเวียดนาม ซึ่งแม้ความสามารถด้านการแข่งขันจะยังไม่สูงเทียบเท่ากับมณฑลที่พัฒนาแล้ว แต่ปัจจัยดังกล่าวได้ผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งพัฒนาการเจริญเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นและมีศักยภาพพัฒนาในอนาคต
.
เพื่อให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลมณฑลกว่างซีได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เชิงยุทธศาสตร์เขตปกครองตนเองกว่างซี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568)” ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และเร่งสร้าง 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนไทยสามารถศึกษาและเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนี้
.
(1) เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ได้แก่ อุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligence Terminal) อุปกรณ์แสดงผลความคมชัดสูง (HD) อุปกรณ์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human–computer interaction) และอุปกรณ์และแอปพลิเคชันโทรคมนาคม 5G
.
(2) เทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ ชีวการแพทย์ (Biomedical) ยาชีววัตถุ ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) วัคซีนรุ่นใหม่ น้ำยาตรวจวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง
.
(3) พลังงานทางเลือก ได้แก่ การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกและอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำรองพลังงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นและปลายน้ำของพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานชีวมวล และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)
.
(4) วัสดุสมัยใหม่ ได้แก่ วัสดุสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขนส่งระบบราง รถยนต์พลังงานทางเลือก การบินและการเดินเรือ โดยเฉพาะเหล็กกล้าสมัยใหม่ อัลลอยด์ขั้นสูง เส้นใยสังเคราะห์รูปแบบใหม่ วัสดุใหม่จากแร่ rare earth วัสดุแบตเตอรี่พลังงานทางเลือก วัสดุชีวภาพ เป็นต้น
.
(5) การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง ได้แก่ อุปกรณ์ขั้นสูงด้านการขนส่งระบบราง ทะเลและมหาสมุทร อากาศยาน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้ดาวเทียม การพัฒนาเทคโนโลยีแกน (core technology) และการพัฒนาซอฟต์แวร์ของชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง
.
(6) รถยนต์อัจฉริยะและรถยนต์พลังงานทางเลือก ได้แก่ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ระบบเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) และแบตเตอรี่ แท่นชาร์จ สถานีเติมและระบบจ่ายไฮโดรเจน และระบบขับขี่ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Advanced Driver – Assistance Systems)
.
(7) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแบบครอบคลุม การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านการประหยัดพลังงาน ด้านป้องกันและแก้ไขมลพิษ ด้านการบริหารทรัพยากร และอุปกรณ์การตรวจเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม
.
(8) นวัตกรรมดิจิทัลและการบริการสมัยใหม่ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลและการบริการด้านนวัตกรรมดิจิทัล การบริการด้านดิจิทัลดีไซน์ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางดิจิทัล เช่น หอสมุดดิจิทัล หอวัฒนธรรมดิจิทัล พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล เป็นต้น
.
(9) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมทะเลและมหาสมุทร วิศวกรรมชีวภาพ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
.
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยสามารถศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ของกว่างซี ซึ่งรัฐบาลกว่างซีพร้อมให้การส่งเสริมการลงทุน ทั้งในแง่นโยบาย สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล หรืออาจใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัด เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมของสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหาและแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้
.
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์