ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลซานตงได้เพิ่มความพยายามในการเร่งสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการ และการประยุกต์ใช้เครือข่าย 5G ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ในสาขาต่าง ๆ รวมถึงการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงและการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในปี 2564 การลงทุนในเทคโนโลยี 5G ของมณฑลซานตง รวมมูลค่ากว่า 1.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และทุกเขตพื้นที่ 16 เมืองในมณฑลซานตง ก็ได้รับเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศูนย์กลางการขนส่ง มหาวิทยาลัยที่สำคัญ โรงพยาบาล ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A สวนอุตสาหกรรม และพื้นที่สำคัญอื่น ๆ ในมณฑลซานตงก็สามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G ได้
.
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ในมณฑลซานตงแล้วกว่า 29.19 ล้านครัวเรือน และมณฑลซานตงได้สนับสนุนและส่งเสริมการทดลองพัฒนาแอปพลิเคชันของเทคโนโลยี 5G กว่า 142 ระบบ ในเขตอุตสาหกรรม 15 แห่ง และได้ใช้ระบบปฏิบัติการเทคโนโลยี 5G ในโครงการสาธิตนำร่องเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 5G 233 โครงการ ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่อีกมากมายในอนาคต
.
ท่าเรือชิงต่าว เริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้เครนท่าเรือ (quay cranes) สามารถเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งท่าเรือชิงต่าวถือเป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในกิจการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเครนยกตู้สินค้าได้จากระยะไกล ผ่านโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมของมณฑลซานตงระยะ 5 ปี (2564-2568) มณฑลซานตงตั้งเป้าหมายสร้างสถานี 5G ให้มากกว่า 250,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2568
.
เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจีนอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และธุรกิจในแขนงต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภค และพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัจจุบันจีนได้สร้างสถานี 5G ไปแล้วกว่า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 70 ของการติดตั้งสถานี 5G ทั้งหมดทั่วโลก โดยมณฑลซานตงมากสุดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ มณฑลซานตงได้สนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี AI การทำงานของหุ่นยนต์เชิงธุรกิจ และการบูรณาการการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในรูปแบบ “Internet of Things (IoT)” มาโดยตลอด เพื่อสอดคล้องและรองรับกับกลุ่มประเทศ RCEP ในอนาคต
.
สำหรับประเทศไทย กลยุทธ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของไทยไม่อาจมองเพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G และการสร้างเครือข่ายสัญญาณ 5G เชิงพาณิชย์ของค่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนา 5G ในระยะยาวที่รัฐจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของรัฐ เช่น การพัฒนา smart city และอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย เช่น เกษตรและพลังงาน เป็นต้น รวมถึงสามารถส่งเสริมและผลักดันเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนโครงการ EEC การค้าการลงทุนของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือกลุ่มประเทศ RCEP ได้ในอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว