หนึ่งในเรื่องที่คนไทยยังเข้าใจคนจีนผิดอยู่ คือ “คนจีนไม่ทานเนื้อ(วัว) เพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิม” ความเป็นจริงคือ ถ้าได้มาท่องเที่ยวหรือลองใช้ชีวิตในเมืองจีนแล้ว จะพบว่าชาวจีนชอบทานเนื้อ(วัว)มาก โดยประเทศจีนเป็นผู้ผลิตเนื้อวัว อันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา บราซิล และสหภาพยุโรป) และจีนยังเป็นประเทศ ‘นักกิน’ เนื้อวัวอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย (รองจากสหรัฐอเมริกา) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 จีนมีกำลังการผลิตเนื้อวัว 7.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ขณะที่กำลังการบริโภคมีสูงถึง 10.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ซึ่งการผลิต(เนื้อ)วัวในจีนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคได้เพียงพอ และต้องพึ่งพาการนำเข้าโคมีชีวิต (เพื่อชำแหละและเพื่อปรับปรุงพันธุ์) และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวชำแหละและตัดแต่ง
บทความเรื่อง เนื้อเน้น ๆ จับเทรนด์การบริโภคเนื้อวัวในตลาดจีน จะแบ่งเล่าเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 เป็นเรื่อง “โคเนื้อมีชีวิต” และตอนที่ 2 เกี่ยวกับ “เนื้อวัว” ในตลาดจีน
ปี 2566 จีนมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่ราว 50.23 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 โดยพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อในจีนอยู่ทางตอนเหนือของประเทศที่สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและมีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่โคเนื้อในจีนเป็นโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ต่างประเทศ เป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของโคเนื้อทั้งหมดในจีน อย่างไรก็ดี การเลี้ยงโคเนื้อในจีนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด ส่งผลให้จีนต้องนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตทั้งเพื่อชำแหละและเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้โคเนื้อคุณภาพ อย่างวัวฮวาซี (华西牛)

ปี 2566 จีนนำเข้าโคมีชีวิต (วัตถุประสงค์เพื่อการชำแหละและเพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์) รวม 147,661 ตัว (42,041 ตัน) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,218.06 ล้านหยวน เป็นการนำเข้าของ 8 มณฑล จาก 5 ประเทศทั่วโลก จากการดำเนินนโยบายระงับการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2566 ทำให้เนื้อวัวออสเตรเลียได้ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในจีนด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 60 ของปริมาณนำเข้ารวม ขณะที่นิวซีแลนด์ตกมาอยู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29 ตามด้วยอุรุกวัย (ร้อยละ 6) ชิลี (ร้อยละ 5) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 0.02) โดยผู้นำเข้ารายใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีการนำเข้าโคมีชีวิตมากที่สุดในจีน 52,211 ตัว ตามด้วยนครเทียนจิน (27,170 ตัว) มณฑลเหอเป่ย (23,796 ตัว)
สำหรับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) จีนก็มีมาตรฐานที่เข้มงวดไม่น้อยกว่าฝั่งตะวันตก โดยเงื่อนไขพื้นฐานของการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เกี่ยวข้อง) ของจีน มีดังนี้
- การนำเข้าต้องผ่าน “ด่านนำเข้าโคมีชีวิต” ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานศุลกากรระดับมณฑลที่ดูแลกำกับการนำเข้าโคมีชีวิต (พิกัด 0102 สัตว์จำพวกโคกระบือ มีชีวิต) จำนวน 12 แห่งใน 11 มณฑลทั่วจีน
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับอนุมัติการนำเข้าโคมีชีวิต 2 แห่ง คือ ด่านท่าเรือชินโจว (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว) และด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง (ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้รับอนุมัตินำเข้าสุกรมีชีวิต) และปี 2566 ทีผ่านมา กว่างซีนำเข้าโคมีชีวิตจาก 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย (11,969 ตัว) และนิวซีแลนด์ (6,986 ตัว)

- แหล่งกำเนิดสินค้าต้องไม่อยู่ใน “บัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์” ตามประกาศของกรมกักกันพืชและสัตว์ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (บัญชีรายชื่อฯ จะมีการอัปเดตเป็นระยะ) ซึ่งในอุษาคเนย์ มีเพียง สปป.ลาว กับเมียนมาที่ได้รับอนุญาตให้สามารถส่งออกโคมีชีวิตไปจีน ภายใต้เงื่อนไข/ข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและการกักกันโรคสำหรับโคเนื้อที่จีนกำหนด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ สปป.ลาว เป็นชาติสมาชิกอาเซียนเพียงชาติเดียวที่ส่งออกโคมีชีวิตไปจีนได้จริง โดยลาวได้รับโควตาส่งออกโคและกระบือไปจีนปีละ 500,000 ตัว การส่งออกแต่ละครั้งจะมีโควตาเฉพาะ ในขณะที่เมียนมายังไม่มีการส่งออกไปจีนในทางปฏิบัติ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการตรวจรับสินค้าจากจีน จากสถานตรวจสอบและกักกันโรคในการส่งออกสัตว์ในพื้นที่กงข่า ที่เริ่มการก่อสร้างไปเมื่อปลายปี 2564
ความท้าทายของประเทศไทยคือยังอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์ เพราะเป็นพื้นที่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ทำให้“โคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว” ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้โดยตรง แต่ใช้วิธีการส่งออกไปพักเลี้ยงในเขตปลอดโรคของ สปป.ลาว เป็นเวลา 45 วัน จึงจะสามารถส่งออกไปจีนผ่านทางมณฑลยูนนาน และหลังจากเข้าไปยังจีนแล้ว ยังต้องกักกันโรคที่ชายแดนลาว-จีน อีกอย่างน้อย 30 วัน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตที่จีนได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวยังคงมีอุปสรรคทางธุรกิจที่ต้องร่วมกันเจรจาแก้ไข

ดังนั้น เกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคต้องเฝ้าระวังและยกระดับระบบการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) และเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคระบาด เพื่อกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคลัมปิสกินให้หมดไปจากประเทศไทย
ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ระหวา่งการเจรจากับจีนเรื่องการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิตให้สามารถส่งออกไปจีนได้โดยตรง เพื่อลดการแบกรับต้นทุนของเกษตรกร การพัฒนาเขตปลอดโรคระบาดเพื่อเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์พร้อมกักกันโรคก่อนส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนสามารถเข้ามาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย เพื่อเปิดทางให้ “โคไทย” ก้าวไกลสู่ตลาดจีนได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา