ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนได้เริ่มส่งเสริมการทดลองใช้บริการจัดส่งแบบไร้คนขับในภาคโลจิสติกส์ อย่างโดรนจัดส่งพัสดุถึงครัวเรือน ระบบขนส่งด่วน “จากบนฟ้าสู่ภาคพื้นดิน” ภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจการบินต่ำ โดยมีทั้งรูปแบบการจัดส่งด้วยโดรนและรถขนส่งไร้คนขับ สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะที่ผสานการทำงานระหว่าง “อากาศและภาคพื้นดิน” ได้อย่างลงตัว เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นมาจากการจัดส่งไร้คนขับผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือในการควบคุมให้การเดินรถเป็นไปอย่างปลอดภัยและตรงตามเส้นทางที่ตั้งไว้ โดยนายมู่ ชุนซง ผู้จัดการสถานีระบุว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งรถไร้คนขับจำนวน 17 คันในเขตพื้นที่ หลงเฉวียนอี้ นครเฉิงตู เรียบร้อยแล้ว
รถไร้คนขับเหล่านี้สามารถเดินทางได้รัศมี 10 กิโลเมตร มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติระดับ L4 (สามารถขับขี่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องใช้คนขับ) และวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง นอกจากรถไร้คนขับแล้ว โดรนจัดส่งก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ เช่น อาป้า พานจื่อฮวา เหมยซาน และจื้อกง ซึ่งบางพื้นที่ยังเปิดเส้นทางจัดส่งทางอากาศสู่ชนบทอีกด้วย
แม้การลงทุนในภาคเทคโนโลยีใหม่จสูง แต่ผู้ประกอบการเชื่อว่าระยะยาวจะช่วยลดต้นทุน เนื่องจากค่าขนส่งทั่วไปที่มีคนขับมีค่าใช้จ่ายราว 10,000 หยวนต่อเดือน ส่วนรถไร้คนขับขนาด 5 ลูกบาศก์เมตรที่สามารถส่งพัสดุได้ 500 ชิ้นต่อรอบ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 2,580 หยวนต่อเดือน แม้กระทั่งการใช้พร้อมกัน 3 คัน ก็ยังถูกกว่าการใช้รถแบบดั้งเดิม แต่ถึงจะมีความก้าวหน้า แต่การจัดส่งแบบไร้คนขับยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และพบปัญหาหลายด้าน อาทิ
1. ด้านเทคโนโลยีอาจทำให้สภาพรถและโดรนมีปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนตกหนักหรือหมอกหนา รวมถึงโดรนมีข้อจำกัดด้านระยะทางและน้ำหนักขนส่ง
2. ต้นทุนสูงในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะในชนบทที่มีปริมาณพัสดุน้อย ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนด้วยการกระจายการใช้งานในวงกว้างได้
3. การประสานงานเมื่อผ่านขั้นตอนขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน เช่น การบินพลเรือนและตำรวจ ซึ่งยังไม่มีระบบอนุมัติที่คล่องตัว
4. ด้านความปลอดภัย เนื่องจากเมืองต่างๆยังไม่มีเลนเฉพาะสำหรับรถไร้คนขับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
5. ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม และอัตราการใช้งานยังต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายระบบในวงกว้างแม้มีอุปสรรค โดยเลขาธิการสมาคมไปรษณีย์ด่วนพิเศษมณฑลเสฉวนเสนอว่าควรเร่งดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ขยายรูปแบบบริการสู่ผู้บริโภคทั่วไป ให้ครอบคลุมถึงการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น (2) ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการใช้งานระยะไกล ความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและระบบอัจฉริยะ (3) ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ เช่น การให้เงินอุดหนุน การเปิดเขตการบิน การสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ เพื่อสร้างบรรยากาศทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวในอนาคต
ในบริบทของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการและความไม่แน่นอนของภาคการขนส่งที่ผันผวนตามราคาพลังงาน หากสามารถนำเทคโนโลยีการจัดส่งไร้คนขับมาทดลองใช้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมืองหรือเมืองท่องเที่ยวที่มีความต้องการจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนสูง ก็จะช่วยลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมาก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งในเขตเมือง ชนบท ภูเขา และพื้นที่เกษตรกรรม หากใช้โดรนและรถไร้คนขับในการขนส่งสินค้าการเกษตร เช่น ผลไม้สด หรือพัสดุที่ต้องถึงมือผู้บริโภคในเวลาจำกัด จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม การพัฒนานี้จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาวในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดสรรพื้นที่จอดขึ้น-ลงของโดรน เลนพิเศษสำหรับรถไร้คนขับตลอดจนการออกแบบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยและความร่วมมือข้ามหน่วยงานอย่างชัดเจน ที่สำคัญรัฐบาลควรมีบทบาทเชิงรุกในการออกกฎหมาย ส่งเสริมวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ สนุบสนุนสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในถาคขนส่ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยและการควบคุมการใช้งานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานการบินผลเรือนแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทั้งนี้ ควรสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลและการศึกษาให้เข้าใจถึงข้อจัดและประโยชน์ จะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้าสู๋ยุคอัจฉริยะได้อย่างแท้จริง และจะแข่งขันในเวที่เศษรฐกิจโลกได้อย่างมีศักยภาพในระยะยาว
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์