เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ยูเครนได้ยุติการอนุญาตให้ขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านไปยังยุโรป เนื่องจากสิ้นสุดข้อตกลงการขนส่งระยะเวลา 5 ปี ระหว่างรัสเซียกับยูเครน และยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ ท่ามกลางสงครามที่ยังดำเนินอยู่ โดยสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งต่างๆ ของอียู ในปี 2567 อียูได้ใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 45 พลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 23 และน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินร้อยละ 32 ซึ่งร้อยละ 18 จากจำนวนนี้เป็นพลังงานที่นำเข้าจากรัสเซียและร้อยละ 5 ส่งผ่านยูเครน ในส่วนที่เหลือจะมีการส่งผ่านทาง Turk Stream
ในส่วนของผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากยูเครนยุติการขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านไปยังยุโรป จะมีดังนี้ Gas Infrastructure Europe คาดการณ์ว่า แม้ราคา Dutch TFF ซึ่งเป็นบรรทัดฐานสำหรับก๊าซธรรมชาติในยุโรป พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 4 เป็น 51 ยูโร/Mwh ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 แต่ยุโรปจะยังไม่เผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานและจะไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในทันที เนื่องจากหลายประเทศ เช่น ฮังการี เชคเกีย ออสเตรีย สาธารณรัฐสโลวัก ที่เคยพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียยังมีก๊าซสำรองจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ยุโรปยังคงเปราะบางต่อความผันผวนของตลาดพลังงาน หากมีการตั้งเป้าที่จะทดแทนก๊าซธรรมชาติที่เคยได้รับจากรัสเซียจากแหล่งพลังงานอื่น อีกทั้งมีความเสี่ยงว่าภายหลังฤดูหนาวในช่วงต้นปี 2568 ยุโรปจะเหลือก๊าซธรรมชาติน้อยลงและค่าใช้จ่ายในการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองจะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งเคยได้รับค่าธรรมเนียมในการส่งผ่านก๊าซจากรัสเซียมายังยุโรป สูญเสียรายได้หลายสิบล้านยูโร/ปี จึงพยายามร่วมมือกับฮังการี ในการกระชับความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำอียู โดยเมื่อ 22 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี Robert Fico ของสาธารณรัฐสโลวักได้เดินทางไปพบประธานาธิบดีปูติน เพื่อเจรจาให้ยังคงส่งก๊าซผ่านยูเครนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
อีกทั้ง ผลกระทบต่อประเทศในยุโรปในระยะยาว คือ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอียูและเพิ่มค่าใช้จ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ราคาก๊าซในยุโรปอาจเพิ่มสูงขึ้นหากยุโรปมีนโยบายที่จะเพิ่มการนำเข้า LNG และคาดว่านอกเหนือจาก ฮังการี เชคเกีย ออสเตรีย สาธารณรัฐสโลวัก เยอรมนีซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของอียูจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านราคาพลังงานมากที่สุด เนื่องจากภาคการผลิตของเยอรมนี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมี โลหะ ใช้พลังงานถึงเกือบร้อยละ 80 ของภาคอุตสาหกรรม ประเทศยุโรปกลาง โดยเฉพาะฮังการีและสาธารณรัฐสโลวักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากก๊าซของรัสเซียที่ได้รับผ่านเส้นทางยูเครนได้สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศถึงร้อยละ 65 เมื่อปี 2566
ทั้งนี้ คณะกรรมธิการยุโรปอยู่ระหว่างการจัดทำ roadmap ในการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ทั้ง LNG และพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการไม่ซื้อพลังงาน resale จากรัสเซีย (ปัจจุบัน ฝรั่งเศสและเบลเยียมเป็นศูนย์กลางการนำเข้าพลังงานดังกล่าวประกาศจะดำเนินตาม roadmap) ในไตรมาสแรกของ ค.ศ. 2025 และเพิ่มการนำเข้าก๊าซจากกรีซ ทูร์เคียและโรมาเนีย ผ่านเส้นทาง Trans-Balkan แทน อีกทั้งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ตอบรับท่าทีของ Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เสนอ ให้อียูเพิ่มการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ มิเช่นนั้นจะต้องถูกขึ้นภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2566 อียูได้มีการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 49.4 แม้ว่าการนำเข้า LNG ได้เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของอียู แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมาก เนื่องจากการขนส่งและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่ง และในส่วนของโปแลนด์ ในฐานะประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ได้ประกาศนโยบาย “Security Europe” โดยเน้นด้านการป้องกันประเทศและพลังงาน ซึ่งรวมถึงการลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซียและเพิ่มมาตรการลงโทษสาขาพลังงานให้เข้มข้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการไม่นำเข้า LNG resale จากรัสเซีย
เมื่อปี 2566 อียูนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 53.4 จากนอร์เวย์ ร้อยละ 15.9 จากแอลจีเรีย ร้อยละ 12.7 จากรัสเซีย (ลดลงจากปี 2564 กว่าร้อยละ 45 ซึ่งเป็นผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์) และร้อยละ 3 จากอาเซอร์ไบจาน โดยนอร์เวย์มีค่าไฟสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอียู 6 เท่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากพลังงานลมที่นอร์เวย์นำเข้าจากทวีปยุโรปประมาณร้อยละ 10 ของพลังงานไฟฟ้าของนอร์เวย์ไม่เสถียร ส่งผลให้ 2 พรรคการเมืองในรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะยุติการเชื่อมโยงระบบพลังงานกับเดนมาร์กในปี 2569 รวมทั้งกำลังทบทวนการเชื่อมโยงระบบพลังงานกับสหราชอาณาจักรและยุโรป ถึงแม้ค่าไฟฟ้าในนอร์เวย์จะลดลงหากการผลิตพลังงานลมในยุโรปกลับมาสู่ระดับปกติ แต่ค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการเชื่อมโยงพลังงานกับทวีปยุโรป เนื่องจากพลังงานน้ำของนอร์เวย์เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของยุโรปและนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปตะวันตก แต่กลับต้องจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าที่สูงกว่าประเทศในอียู ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับอาเซอร์ไบจานรวมทั้งประเทศในเอเชียกลางอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเท่ากับปริมาณ ร้อยละ 50 ของ GDP อาเซอร์ไบจาน และมากกว่าร้อยละ 90 ของรายได้จากการส่งออก โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอียูมากที่สุดผ่านท่อก๊าซในจอร์เจียและทูร์เคียไปยังกรีซ แอลเบเนียละอิตาลี ซึ่งเป็นร้อยละ 7 ของก๊าซที่เข้าไปยังอียูผ่านทางท่อก๊าซ ในเดือนกรกฎาคม 2565 อียูกับอาเซอร์ไบจานได้ลงนามใน MOU on Strategic Partnership in the Field of Energy ซึ่งอาเซอร์ไบจานจะส่งออกก๊าซไปยังยุโรปเพิ่มเป็น 2 เท่า (20 พันล้านลูกบาศก์เมตร) ภายในปี 2570 ซึ่งในปี 2565 และ 2566 อาเซอร์ไบจานส่งออกก๊าซไปยังอียูจำนวน 11.4 พันล้านลูกบาศก์เมตรและ 11.8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับไปยังโรมาเนีย ฮังการี สาธารณรัฐสโลวัก โครเอเชีย อิตาลี บัลแกเรียและกรีซ ทั้งนี้ก่อนข้อตกลงการขนส่งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะสิ้นสุด ได้มีความพยายามของฝ่ายต่างๆ ที่จะให้อาเซอร์ไบจานเป็นช่องทางซื้อก๊าซจากรัสเซียก่อนส่งออกมายังยุโรป แต่การเจรจาดังกล่าวยังไม่ลุล่วง
แม้อียูจะมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อียูประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งมีความไม่แน่นอน/ไม่เสถียร และมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ นโยบายของอียูในการผลักดันพลังงานทดแทนได้ส่งผลให้อียูพึ่งพา critical raw materials และเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีนและก่อให้เกิดข้อกังวลเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในบริบทความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และข้อพิพาททางการค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของอียูที่เพิ่มมากขึ้นในด้านพลังงานและข้อจำกัดของยุทธศาสตร์ของอียูในการบรรลุความมั่นคงด้านพลังงาน ส่งผลกระทบต่อความพยายามของอียูที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์เตือนว่ากาตาร์จะยุติการส่งออก LNG ไปยังอียู หากอียูใช้มาตรการลงโทษกาตาร์ด้วยกฏหมาย Corporate Sustainability Due Deligence Directive (CSDDD) ซึ่งกำหนดให้ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อีกทั้งกำหนดบทลงโทษถึงร้อยละ 5 ของรายได้จากการส่งออกสินค้านั้นๆ อย่างไรก็ตามกาตาร์ไม่สามารถรับค่าปรับดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคพลังงานของกาตาร์และรายได้ของกาตาร์ ทั้งนี้ยังมีข้อตกลงการส่งออก LNG ในระยะยาวกับเยอรมนี ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป