เส้นทางเดินเรือใหม่ จาก ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย เมืองอู๋โจว สู่ ท่าเรือกรุงเทพ เส้นทางขนส่งใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ถึงร้อยละ 10 อีกทั้งยังเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้กับผู้ค้ากว่างซี ในการทำการค้ากับประเทศในอาเซียน โดยมีการเปิดให้บริการแบบเที่ยวประจำ ที่มีบริษัท Guangxi Xijiang Chishui Port Co., Ltd. อันเป็นบริษัทลูกของ Guangxi Beibu Gulf International Port Group ร่วมกับบริษัท Hongkong Konfill Shipping Co., Ltd. ในการสร้างเส้นทางเดินเรือนี้ขึ้น สำหรับการขนส่งทางแม่น้ำ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของภาคธุรกิจในพื้นที่จีนตอนในที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
ท่าเรือชื่อสุ่ย อำเภอเถิง เมืองอู๋โจว เป็นหนึ่งในท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำซีเจียงและจัดเป็นด่านประเภท 1 ซึ่งเป็นด่านที่สามารถใช้ทำการค้ากับต่างประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่มีระบบงานขนส่งแบบครบวงจร ทั้งทางน้ำ ทางถนน ทางรถไฟและทางอากาศ โดยท่าเรือแห่งนี้มีท่าเทียบเรือขนาด 2,000 ตัน จำนวน 5 ท่า ที่สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.98 ล้านตัน และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ขนาด 3,000 ตัน จำนวน 2 ท่า ที่สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.85 ล้านตัน อีกทั้งกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนงานก่อสร้างท่าเทียบเรือในระยะที่ 3 อีก 8 ท่า
ตามรายงานเส้นทางเดินเรือสินค้า ‘เมืองระดับอำเภอเป่ยหลิว – ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือกรุงเทพ’ เป็นเส้นทางเดินเรือการค้าระหว่างประเทศเส้นทางที่ 8 ของบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group ในเมืองอู๋โจวและเป็นเส้นทางการเดินเรือการค้าระหว่างประเทศเส้นทางที่ 3 ที่เปิดให้บริการในปีนี้ ต่อจากเส้นทางเดินเรือท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือฮ่องกง และท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือโฮจิมินห์ของเวียดนาม ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีตู้สินค้าบรรจุฉนวนใยหิน ซึ่งเป็นวัสดุกันเสียง กันไฟและกันความร้อนที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ตัวท่อ ตัวถัง ฉนวนชนิดแผ่น ปล่องไฟ หม้อต้มและห้องเย็น
ทั้งนี้ทาง BIC มีความเห็นว่า เส้นทางเดินเรือใหม่ ท่าเรือชื่อสุ่ย – ท่าเรือกรุงเทพ เป็นข่าวดีของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้ากับจีนตอนใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อาทิเช่น น้ำตาลดิบ แป้งมันสำปะหลัง ธัญพืช (ข้าว ถั่วเหลือง) และสินแร่ ซึ่งเป็นสินค้าอันเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยผู้ค้าในไทยสามารถเลือกการจัดส่งสินค้าด้วยตู้สินค้าแทนการใช้เรือสินค้าเทกองได้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและช่วยลดอัตราการสูญเสียลงได้ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังพื้นที่ตอนในของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เช่นกัน รวมถึงสามารถกระจายสินค้าผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียงหรือการใช้การขนส่งแบบครบวงจรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้อีกด้วย
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ หนานหนิง