เมืองเซี่ยเหมินประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงของเมืองเซี่ยเหมินเพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเมืองเซี่ยเหมินรูปแบบใหม่ โดยนโยบายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569 โดยมีมาตรการหลัก ดังนี้
- ส่งเสริมวิสาหกิจในการพัฒนาบุคลากร โดยมีมาตรการจูงใจด้านการเงินแก่วิสาหกิจ แบ่งเป็น (1) การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง เช่น การมอบเงินสนับสนุนจำนวน 2 แสนหยวน และ 1.2 แสนหยวน แก่วิสาหกิจที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรโดดเด่นติดระดับมณฑลและระดับเมืองตามลำดับ และมอบเงินสนับสนุน จำนวน 1 แสนหยวน และ 8 หมื่นหยวน แก่บุคลากรที่ได้รับรางวัลการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงระดับมณฑล และระดับเมืองตามลำดับ (2) การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมีการมอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสน หยวน 5 หมื่นหยวน และ 3 หมื่นหยวน แก่วิสาหกิจที่พัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความโดดเด่นระดับประเทศ ระดับมณฑล และระดับเมืองตามลำดับ และ (3) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจและสถาบันการศึกษา โดยมอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสนหยวน แก่วิสาหกิจที่มีการลงนามความตกลงกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของนักเรียน/นักศึกษา นอกจากนั้น ยังมีการมอบเงินสนับสนุนค่าที่พักแก่บัณฑิตปริญญาเอกและโทที่มาทำงานที่เมืองเซี่ยเหมินเป็นครั้งแรกและเข้าร่วมประกันสังคมของเมืองเซี่ยเหมินติดต่อกันตลอด 3 เดือน รวมถึงบัณฑิตปริญญาตรีที่จบการศึกษาจากมหาลัยที่
โดดเด่นของจีน - ยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการ ลงทุน สนับสนุนการสร้างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ อาทิ มอบเงินจำนวน 1 ล้านหยวน 5 แสนหยวน และ 3 แสนหยวน แก่วิสากิจที่มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ได้รับรางวัลระดับประเทศระดับเมืองและระดับเขตตามลำดับ รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากวิสาหกิจชั้นนำ โดยสามารถยื่นขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่าย ในการจัดกิจกรรมทั้งหมดได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 แสนหยวน
- สนับสนุนการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวัน สนับสนุนการจัดเวทีความร่วมมือกับไต้หวันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจและผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวัน อาทิ มอบเงินสนับสนุน 1 หมื่นหยวน แก่วิสาหกิจที่มีการรับบัณฑิตจบใหม่ชาวไต้หวัน หรือจ้างงานชาวไต้หวันครบรอบ 1 ปีมอบเงินสนับสนุน 1 แสนหยวน แก่วิสาหกิจที่มีการ จ้างงานผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวันเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ถือเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ดังนั้น ไทยสามารถเรียนรู้นโยบายการพัฒนาบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญของเมืองเซี่ยเหมินได้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงของไทยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่มีความต้องการสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัลอุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์