จากตอนที่ 1 เราได้ทำความรู้จัก ‘เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง’ Central Business District แห่งใหม่ของนครหนานหนิง จุดหมายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในตอนนี้เราสำรวจกันต่อถึงพื้นที่
นำร่องสำคัญในนครหนานหนิงกันบ้าง
ย่านการเงินจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Financial Town พื้นที่นำร่องสำคัญของนครหนานหนิง ถือเป็น key project ที่เป็นฟังก์ชันพิเศษของ “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง/เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง” ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินและประกันภัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเข้าไปเปิดสำนักงานแล้ว 411 ราย เป็นสถาบันการเงินรายใหม่ 126 ราย
จีนสนับสนุนการเป็น Financial Gateway for ASEAN ของเขตฯ นำร่องการปฏิรูปภาคการเงิน การธนาคาร การประกันภัย โดยเฉพาะการชำระบัญชีข้ามแดน ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำร่องการทำธุรกรรมสกุลเงินหยวน
ข้ามแดน การขอสินเชื่อสกุลเงินหยวนใน project นอกประเทศจีน และการทำธุรกรรมการเงินต่างประเทศสำหรับบัญชี Non-Resident Account (NRA) ซึ่ง “นครหนานหนิง”เป็นเมืองแรกที่ทำตั๋วแลกเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบัญชี NRA ของผู้ค้าในต่างประเทศได้สำเร็จ
อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนา ได้แก่ โลจิสติกส์ ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงฯ เป็นที่ตั้งของเขตสินค้าทัณฑ์บนครบวงจรหนานหนิงและสวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน (หนานหนิง) – สิงคโปร์ (CSILP) ซึ่งตอบโจทย์ด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ นครหนานหนิงยังผลักดันโครงการสำคัญอื่น ๆ เพื่อการค้าการลงทุนกับอาเซียน เช่น การให้บริการของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Center: CABC) แพลตฟอร์มการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) แพลตฟอร์มการค้าสินค้าโภคภัณฑ์จีน-อาเซียน และศูนย์แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน การพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามแดนจีน-อาเซียน และห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ข้ามแดนจีน-อาเซียน และยังมี CAMEX หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange เป็นศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีนอาเซียนที่ไทยอาจใช้ศูนย์ดังกล่าวเป็นประตูบานใหม่สู่จีนได้
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
รัฐบาลกว่างซีได้ส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติโดยปรับปรุงนโยบายให้ยืดหยุ่น ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัด และเอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ ความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน โดยเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ได้จัดตั้งกลไก “พี่เลี้ยง” สำหรับให้บริการและติดตามความคืบหน้าการลงทุนและคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ เช่น การตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียน (Customer Service & Support) และอนุญาโตตุลาการเพื่อช่วยเหลือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
นครหนานหนิงจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนตะวันตกซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง โดยภาครัฐและภาคเอกชน ไทยสามารถผูกโยงโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเข้ากับ project ต่างๆ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงแบบสองทาง ทั้งการเชิญเข้ามาและการก้าวออกไป เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสองฝ่าย
**************************
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา :
– http://gx.people.com.cn
– http://tjj.gxzf.gov.cn
– www.gx.chinanews.com.cn
– https://www.cnfin.com
– http://www.haiwainet.cn