จากตอนที่แล้ว กล่าวถึงเครื่องดื่มยอดนิยมในมณฑลส่านซีและตลาดจีนซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นมะพร้าว ในตอนนี้เราจะมารู้จัก ‘เทรนด์เครื่องดื่มมะพร้าวในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คของจีน’ รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจมะพร้าวด้วย
เมื่อสืบค้นคำว่า “นมมะพร้าว” ในแอปพลิเคชันเสี่ยวหงซู (Xiao Hong Shu) แพลตฟอร์มที่แบ่งปันวิถีชีวิตของวัยรุ่นชาวจีนซึ่งมีผู้ใช้ในปัจจุบันมากกว่า 100 ล้านคน มีโพสต์เกี่ยวกับนมมะพร้าวจากผู้ใช้มากกว่า 7 แสนรายการ พบว่า มีโพสต์เกี่ยวกับ “กลุ่มเครื่องดื่มมะพร้าว” มากกว่า 4 หมื่นรายการ และเมื่อสืบค้นโดยใช้คำว่า “เครื่องดื่มไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ” นมมะพร้าวก็ปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับแรก โดยกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่ในจีน แบรนด์ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงอย่าง Luckin Coffee และ Hey Tea ได้จัดกิจกรรมร่วมกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ หลายครั้ง เพื่อโปรโมทเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าว เช่นกาแฟนมมะพร้าว มะพร้าวรสมะนาว น้ำมะพร้าวผสมลำไย และเพื่อกระตุ้นความสนใจให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาวในจีน จะเห็นได้ว่า จุดสำคัญของกลยุทธ์การตลาดเครื่องดื่ม คือ การผสมผสานสินค้าเข้าไปในกระแสความนิยม
ปัจจุบัน จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานคาดการณ์การลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวของจีนเชิงลึกปี 2020 – 2025 ที่เผยว่า จีนมีปริมาณความต้องการมะพร้าวถึง 2,600 ล้านลูกต่อปี และมณฑลไหหลำ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำวคัญของจีนมีกำลังการผลิตเพียง 250 ล้านลูกต่อปี นอกจากนี้ จีนยังมีความต้องการใช้มะพร้าวแปรรูปถึง 150 ล้านลูก จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
ศุลกากรแห่งชาติจีนรายงานว่า การนำเข้ามะพร้าวของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า นำเข้ามะพร้าวทั้งลูกจากไทยแล้วกว่า 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.55% (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวนหรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 64.59% (YoY) โดยมะพร้าวไทยครองสัดส่วน 48.26% ของปริมาณการนำเข้ารวม (คิดเป็นสัดส่วน 73.38% ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม) โดยมีอินโดนีเซีย 30.77% เวียดนาม 20.59% เป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามอง
สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดซีอาน พบว่ามะพร้าวไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีจําหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายผลไม้ทั่วไป และแพลตฟอร์ม e-commerce โดยส่วนใหญ่เป็นน้ำมะพร้าวบรรจุขวดหรือกล่อง และมะพร้าวสดทั้งลูกแบบพร้อมรับประทาน จากข้อมูลของซูเปอร์มาร์เก็ต CP Lotus ซีอาน พบว่า กลุ่มผู้บริโภคหลักของน้ำมะพร้าวและนมมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น
โอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยพร้อมความท้าทาย
ด้วยมะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นที่นิยมมากในจีน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยอาจคิดค้นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น นมมะพร้าวหรือกะทิของไทยรสชาติใหม่ หรือผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่นำไปต่อยอดเป็น functional drink แบบไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ หรือนมมะพร้าวที่ใช้เป็นส่วนผสมในเมนูร้านเครื่องดื่มชากาแฟแนวใหม่ เพื่อบุกตลาดคนรักผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับ high-end ในจีนได้
ทั้งนี้ การเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนด้วยสินค้าใหม่ของไทยภายในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่แบรนด์สินค้าดั้งเดิมก็มีฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ดังนั้น การเน้นคุณภาพและรสชาติที่ถูกปาก/บริโภคง่าย จึงถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสินค้า ตลอดจนราคาที่จับต้องได้สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ล้วนเป็นปัจจัยการแข่งขันที่สำคัญ ด้านความท้าทายที่ผ่านมาเรื่องของต้นทุนการส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกถือเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของจีนเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการที่วางแผนจะขยายตลาดในจีนโดยอาจลดต้นทุนการขนส่งได้
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง:
- https://new.qq.com/rain/a/20220816A01NQ900
- https://www.163.com/dy/article/H32S00880519EOS3.html
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1744157720568899114&wfr=spider&for=pc&searchword=%E4%B8%AD%E5%9B%BD%E6%A4%B0%E5%AD%90%E7%B1%BB%E9%A5%AE%E5%93%81%E5%B8%82%E5%9C%BA%E8%90%A5%E9%94%80
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1712020182545166184&wfr=spider&for=pc
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1744079886276652834&wfr=spider&for=pc
- https://m.sohu.com/a/588195681_104421/?pvid=000115_3w_a
- http://www.customs.gov.cn/customs/302249/2480148/4761081/index.html