“เทคโนโลยีควอนตัม” (Quantum Technology) และการประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing) มีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และอาจปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ในอนาคตอันใกล้ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจาก “ยุคดิจิทัล” ไปสู่ “ยุคควอนตัม” ที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่เชิงควอนตัมฟิสิกส์ สามารถประมวลผลลัพธ์ที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันอย่างมาก
สิงคโปร์กับการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม
บริษัท Horizon หนึ่งในสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะโดยศูนย์ CQT ในสิงคโปร์ เล็งเห็นปัญหาเรื่องความซับซ้อนของศาสตร์ควอนตัม จึงได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตัวเชื่อมศาสตร์ควอนตัมที่สามารถลดความซับซ้อนของอัลกอริทึม และสามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป แนวคิดดังกล่าวเป็นที่สนใจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น เครือ Tencent ของจีนสนใจลงทุนกับบริษัท Horizon เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัท Sequoia Capital ของอินเดียสนใจลงทุนอีก 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้บริษัท Horizon กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนเพิ่มกำลังคนถึง 25 ตำแหน่งในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการผลิต
รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญและสนับสนุนการวิจัยด้านระบบความปลอดภัยแบบควอนตัม (quantum-safe) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะเทคนิค “การเข้ารหัสขั้นสูง” การแข่งขันของบริษัทสตาร์ทอัพด้านควอนตัมในสาขานี้จึงมากกว่าด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัท SpeQtral ได้เปิดตัว Quantum Networks Experience Centre (QNEX) ร่วมกับบริษัท Toshiba เพื่อเป็นแม่แบบให้คู่ค้า นักวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ได้แบ่งปันประสบการณ์การเข้ารหัสลับด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ทั้งยังมีแผนจะจัดทำดาวเทียม SpeQtral-1 ให้แล้วเสร็จ ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Ekert ของศูนย์ CQT เห็นว่า เทคโนโลยีควอนตัมในสิงคโปร์ยังมีโอกาสเติบโตสูง และจำนวนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการด้านควอนตัมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีนักลงทุนด้าน deep tech จำนวนไม่น้อย การลงทุนเทคโนโลยีควอนตัมในระยะเริ่มต้นก็ใช้เงินทุนไม่มาก แต่หากประสบความสำเร็จ จะช่วยสร้างเม็ดเงินมหาศาลแก่ผู้ประกอบการ และช่วยส่งเสริมสถานะของผู้ประกอบการในของอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย
แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัมยังอยู่ในวงจำกัดและอยู่ในขั้นตอนของการค้นคว้าวิจัยเป็นส่วนใหญ่ แต่การผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ระบบควอนตัมก้าวหน้าอย่างยิ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนักวิชาการและนักวิจัยด้านทฤษฎีควอนตัมอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 200 คน โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการนำงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง ซึ่งทีมนักฟิสิกส์วิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อได้ทำการกักขังอะตอมเดี่ยวสำเร็จ เมื่อปี 2562 ถือเป็นความสำเร็จเชิงควอนตัมที่น่าสนใจในประเทศไทย ดังนั้น ไทยอาจพิจารณาส่งเสริมหน่วยงานด้าน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา ให้ทำงานร่วมกันกับสตาร์ทอัพสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีควอนตัมในภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และธุรกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านนี้ของทั้งสองประเทศในอนาคต
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ข้อมูลอ้างอิง