ในภาพรวมเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.69 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในห้วงปลายปี 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และจะลดลงไม่เกินร้อยละ 4 ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อในอินโดนีเซียอาจพุ่งแตะร้อยละ 6 ในห้วงปลายปีนี้ได้เช่นกัน หากสถานการณ์ด้านพลังงานยังคงไม่ดีขึ้น ด้านธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตร้อยละ 5.1 ในปีนี้ โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย
ในด้านการค้าของอินโดนีเซีย การส่งออกในห้วงเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 27.91 พันล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 mom และร้อยละ 30.15 yoy โดยในมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเดือนนี้ (1) สินค้าน้ำมันและก๊าซ (oil and gas) มีมูลค่า 1.71 พันล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.59 mom และร้อยละ 64.46 yoy ตามลำดับ และ (2) สินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ (non-oil and gas) มีมูลค่า 26.19 พันล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.24 mom และร้อยละ 28.39 yoy โดยสินค้า non-oil and gas ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ (1) เชื้อเพลิงจากแร่ เช่น Mineral Fuel และถ่านหิน (2) น้ำมันจากพืช/สัตว์ และน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทั้งนี้ ประเทศที่อินโดนีเซียส่งออกสินค้า non-oil and gas มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 โดยอินโดนีเซียส่งออกไปยังไทยเป็นมูลค่าประมาณ 610 ล้าน USD คิดเป็นร้อยละ 2.35 ของมูลค่าส่งออกทั้งเดือน
ด้านการนำเข้าในห้วงเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 22.15 พันล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 mom และร้อยละ 32.81 yoy และร้อยละ 26.11 yoy โดยสินค้า non-oil and gas ที่เป็นสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบในการผลิต (raw/supporting materials) สินค้าทุน (capital goods) และสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) ทั้งนี้ ประเทศที่อินโดนีเซียนำเข้าสินค้า non-oil and gas มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และไทย โดยอินโดนีเซียนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้าน USD คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของมูลค่านำเข้าทั้งเดือน ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าจากอินโดนีเซียประมาณ 289.1 ล้าน USD
ทั้งนี้ การที่ (1) อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (2) การดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่เป็นไปอย่างราบรื่น จากการเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58 yoy ส่งผลให้รายได้ภาครัฐ (state revenue) ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.15 แสนล้าน USD เพิ่มขึ้นถึง 49 yoy กอปรกับ (3) ดัชนีความพึงพอใจของผู้บริโภค (consumer satisfaction index) ซึ่งอยู่ที่ 124.7 (4) การกู้เงินจากธนาคารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และ (5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านการผลิต (manufacturing purchasing manager’s index) ในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 53.7 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบนั้น สะท้อนว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และน่าจะสามารถขยายตัวได้ราวร้อยละ 5.4 – 6 ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างความมั่นใจและโอกาสให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมศักยภาพ เช่น การแปรรูปอาหาร การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงอุตสาหกรรม EV ที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ของรัฐบาลอินโดนีเซียนั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์