สถาบัน China Development Institute ร่วมมือกับกลุ่ม ZYen และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทําดัชนี Global Financial Centres Index ครั้งที่ 32 (GFCI 32) ประจําเดือนกันยายน 2565 โดยสํารวจความคิดเห็นขององค์กรด้านการเงินและเศรษฐกิจชั้นนําของโลก เช่น ธนาคารโลก OECD และ EIU เพื่อจัดอันดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินที่สําคัญของโลกในปี 2565 จากการประเมินเมืองสําคัญทั้งหมด 119 แห่ง พบว่า สิงคโปร์เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการเงินอันดับที่ 3 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชีย แทนที่ฮ่องกง
การจัดอันดับข้างต้น ใช้เกณฑ์การประเมิน 5 ประการ ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (2) ทรัพยากรมนุษย์ (3) โครงสร้างพื้นฐาน (4) การพัฒนาของภาคการเงิน และ (5) ชื่อเสียงของเมือง ซึ่งเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) นครนิวยอร์ก (2) กรุงลอนดอน (3) สิงคโปร์ (4) เมืองฮ่องกง (5) นครซานฟรานซิสโก (6) นครเซี่ยงไฮ้ (7) นครลอสแองเจลิส (8) กรุงปักกิ่ง (9) เมืองเซินเจิ้น และ (10) กรุงปารีส โดยสิงคโปร์ขึ้นจากอันดับที่ 6 เมื่อปี 2564 เป็นอันดับที่ 3 ในปีนี้แทนที่ฮ่องกง และเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับสูงกว่าเมืองฮ่องกง โดยชนะคะแนนเพียงเล็กน้อย (1 rating point)
สําหรับการจัดอันดับเมืองในเอเชียตะวันออกอื่น ๆ ที่ติดอันดับ ได้แก่ (1) กรุงโซล อันดับที่ 11 (2) กรุงโตเกียว อันดับที่ 16 (3) นครกว่างโจว อันดับที่ 25 (4) เมืองปูซาน อันดับที่ 9 (5) นครเฉิงตู อันดับที่ 34 (6) เมืองชิงต่าว อันดับที่ 36 (7) นครโอซากา อันดับที่ 37 (8) ไทเป อันดับที่ 55 (9) กรุงกัวลาลัมเปอร์ อันดับที่ 56 (10) กรุงเทพฯ อับดันที่ 79 (11) นครหนานจิง อันดับที่ 83 (12) นครหางโจว อันดับที่ 85 (13) นครเทียนจิน อันดับที่ 87 (14) กรุงจาการ์ตา อันดับที่ 95 (15) กรุงมะนิลา อันดับที่ 103 (16) นครโฮจิมินห์ อันดับที่ 104 (17) นครซีอาน อันดับที่ 118 และ (18) เมืองอู่ฮั่น อันดับที่ 119
ทั้งนี้ GFCI ประเมินว่าสาเหตุที่เมืองฮ่องกงถูกลดลำดับลงแล้วเปลี่ยนมาตามหลังสิงคโปร์ เป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของรัฐบาลกลางของจีน และการใช้มาตรการเด็ดขาดทางการเมือง ทําให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกงเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความสามารถ (talents) แม้ว่าฮ่องกงมีกําหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดด้านการลงทุนของผู้นําการเงินโลก (Global Financial Leaders Investment Summit) ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ แต่ด้วยมาตรการโควิด-19 ที่ทางการฮ่องกงกำหนด เช่น การยกเลิกกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงแต่ยังคงต้องตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR และต้องสังเกตการณ์ทางการแพทย์ 3 วัน ทําให้บริษัทด้านการเงินชั้นนําจากทั่วโลกที่ประสงค์เข้าร่วมการประชุมฯ ยังคงลังเลใจที่จะเดินทางไปฮ่องกง
ในทางกลับกันสิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และเริ่มเปิดประเทศอย่างปลอดภัยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 4 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 สิงคโปร์ได้จัดการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่ง Formula One Singapore Grand Prix มหกรรมลดราคาสินค้าสิงคโปร์ (The Great Singapore Sale – GSS) ทั้งยังมีแผนจะจัดงานระดับนานาชาติในด้านการเงินและการลงทุน เช่น การประชุมสุดยอดของสถาบันมิลเคน (Milken Institute Asia Summit) และการประชุมของระดับผู้บริหารของบริษัทฟอบส์ (Forbes Global CEO Conference) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทําให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายในการประชุมทางการเงินระหว่างประเทศของภาคเอกชน และจุดหมายการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยในภูมิภาค โดยปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์ได้ยกเลิกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว ยกเว้นในระบบขนส่งมวลชน
นอกจากนี้ GFC ยังระบุว่าสิงคโปร์มีความพร้อมและความได้เปรียบด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทําธุรกิจอยู่ในลําดับต้นของภูมิภาค ทั้งยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์กลางทางด้านการเงินอื่น ๆ อย่างเข้มแข็ง ทั้งในเอเชียและทั่วโลกสิงคโปร์ยังได้รับความเชื่อมั่นจากองค์กรชั้นนําทางการเงินว่าจะเป็นเมืองที่มีความสําคัญและโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยได้รับคะแนนในหัวข้อนี้สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงโซล
อย่างไรก็ตามสิงคโปร์และฮ่องกงต่างประสบปัญหาด้านแรงงานฝีมือด้านการเงินและเป็นคู่แข่งที่สําคัญของกันและกัน มาตรการในการเริ่มเปิดประเทศอย่างรวดเร็วของสิงคโปร์ที่สวนทางกับมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของฮ่องกง ทําให้เกิดความผิดปกติของการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และทําให้ค่าจ้างแรงงานและค่าเช่าสูงขึ้นในทั้งสองเมือง สัดส่วนของตําแหน่งงานว่างกับการว่างงานของสิงคโปร์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทําให้เกิดแรงกดดันให้ขึ้นค่าจ้างที่สูงขึ้นเร็วกว่าฮ่องกงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ถึงแม้ค่าเช่าสํานักงานในฮ่องกงจะสูงที่สุดในโลก แต่ปรับตัวลดลงในช่วงมาตรการโควิดเป็นศูนย์ โดยเฉพาะค่าเช่าสํานักงานในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ในขณะที่ค่าเช่าในสิงคโปร์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจเกือบเทียบเท่าฮ่องกง รวมถึงค่าไฟฟ้าในสิงคโปร์ที่สูงกว่าในฮ่องกงอย่างมากด้วย
อนึ่ง บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนการย้ายถิ่นฐาน Henley & Partners สิงคโปร์ได้จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีจํานวนประชากรที่มั่งคั่งมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2565 แบ่งเป็น (1) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จํานวน 249,800 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของจํานวนประชากรทั้งหมดในสิงคโปร์ (2) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ จํานวน 336 คน และ (3) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จํานวน 26 คน จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของมหาเศรษฐีอันดับที่ 2 ของเอเชียในปี 2565 รองจากโตเกียว นอกจากนี้สิงคโปร์ยังได้รับการยอมรับระดับโลกว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรในด้านการทําธุรกิจ และเป็นหนึ่งในจุดหมายของการย้ายถิ่นฐานของมหาเศรษฐีทั่วโลก
อ้างอิง: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์