สปป.ลาว เป็นพื้นที่ที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ ภาคบริการการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ สร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมสาขาการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอาหาร โรงแรม สปา จัดประชุม การขายสินค้าท้องถิ่น การให้บริการรถเช่า ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการขยายตัวควบคู่กันไป
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว น่าสนใจและมีศักยภาพอย่างมาก เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้หลายรูปแบบ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และสถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจาก สปป.ลาว มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต จารีตประเพณี ภาษา และการนุ่งห่มที่เป็น เอกลักษณ์ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมายัง สปป.ลาว แบ่งออกเป็น
- กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศหลังเกษียณอายุ โดยส่วนใหญ่เดินทางมาจากยุโรปเพื่อมาพักผ่อน เรียนรู้วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
- กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ วัยกลางคน ส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และชาวต่างชาติที่ทํางานในประเทศอาเซียน ซึ่งนิยมเดินทางมาเป็นคู่หรือแบบครอบครัว
- กลุ่มนักท่องเที่ยวไทย วัยกลางคนและสูงอายุ ที่สนใจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การไว้พระ ทําบุญ
- กลุ่มนักท่องเที่ยวเกาหลี ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นคณะ ชอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธรรมชาติ โดยเฉพาะการตีกอล์ฟ
- กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ส่วนใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นิยมมานวดผ่อนคลาย ซื้อของตลาดกลางคืน
- กลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบจัดการประชุม MICE จากฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งมักเดินทางไปเขตท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับร่องรอยประวัติศาสตร์ และมรดกโลก ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น
ก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา สปป. ลาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44 เมื่อเทียบกับปีที่ 2561 โดยเป็นนักท่องเที่ยวไทยจํานวนมากที่สุด จำนวน 2,160,300 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 อันดับที่ 2 คือ จีน 1,022,727 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.92 และอันดับที่ 3 คือ เวียดนาม 924,875 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.60 (ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2562) สามารถสร้างรายได้ ให้แก่ สปป. ลาว 934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.14 ของ GDP โดยปัจจัยที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก สปป. ลาว มีพื้นที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ําโขง มีเส้นทางหลวงหลายสายที่เชื่อมต่อกับหลายประเทศ รวมทั้งมีเส้นทางทางน้ําและเป็นจุดเชื่อมต่อทางอากาศไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น จีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบ combined destination มักจะเดินทางมายัง สปป.ลาว
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 สปป.ลาว ได้กลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา สปป. ลาว 56,986 คน โดยภาครัฐเร่งดําเนินแผนพัฒนาการท่องเที่ยว สปป. ลาว 5 ปี (2564 – 2568) เพื่อเตรียมความพร้อมและอํานวยความสะดวก โดยจัดทําข้อมูลข่าวสารการเดินทาง ที่พัก ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและการบริการ ในแขวงต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์มาตรการเดินทางเข้ามาใน สปป. ลาว ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งพลิกวิกฤตปัญหาเงินกีบอ่อนค่า เพื่อเป็นโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถนําเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินกีบได้ในจำนวนมากขึ้นและใช้จ่ายคุ้มค่ากว่าเดิม
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนสําคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ สปป. ลาว ให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลลาวตั้งไว้คือกําหนดให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 (ภาคการบริการคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของ GDP) เป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศ ช่วยสร้างเสถียรภาพดุลการชําระเงิน และลดปัญหาการขาดแคลนเงินตรา เกิดการหมุนเวียนเงินตราและการกระจายรายได้ในส่วนท้องถิ่น โดยสังเกตได้จากภาคบริการที่เริ่มกลับมาให้บริการตามปกติและประกาศรับสมัครงานมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจสําหรับนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านท่องเที่ยว อาหาร โรงแรม และ บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
จากแผนงานดังกล่าว ผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เปิดรับนักลงทุนที่ประสงค์จะร่วมพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกในหลากหลายด้าน เช่น โรงแรม สิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับผู้สูงอายุ พนักงาน และบุคลากรนําเที่ยวที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เกาหลี และจีน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นของที่ระลึก การให้บริการสปา อาหาร การสร้างแพลตฟอร์มให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว และการสํารองห้องพัก เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะสามารถเข้ามาศึกษาช่องทางเพื่อร่วมมือในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
แผนพัฒนาการท่องเที่ยว สปป. ลาว 5 ปี (2564 – 2568)