ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 สํานักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ออกแจ้งการอนุญาตการทดลองขุดและซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ใน สปป. ลาว โดยขอลงนามสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับบริษัทที่ให้เงื่อนไขด้านราคาไฟฟ้าสูงสุดเพื่อใช้ในกิจการ Data Processing ซึ่งอนุมัติให้บริษัท 6 แห่ง ทดลองขุด และซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลใน สปป. ลาว ได้แก่ (1) บริษัท wap Data Technology Laos จํากัด (บริษัทจีน) (2) บริษัท พงซับทะวี ก่อสร้างขวทาง จํากัด (3) บริษัท สีสะเกด ก่อสร้างครบวงจร จํากัด (4) บริษัท บุบผา พัฒนาก่อสร้าง เคหะสถานขัวทาง และสํารวจออกแบบ จํากัด (5) ธนาคาร ร่วมพัฒนา จํากัด Joint Development Bank: JDB) และ (6) บริษัท พูสี กรุ๊ป จํากัด ต่อมา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กระทรวงเทคโนโลยีฯ สปป. ลาว จึงได้อนุมัติการทดลองธุรกรรมทรัพย์สินดิจิทัล โดยให้มีระยะเวลา 3 ปี
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ดร. สันติสุก สิมมาลาวง รองรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป. ลาว ได้ชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ใน สปป. ลาว ต่อที่ประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 9 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ด้านพัฒนาการของการขุดค้นสกุลเงินดิจิทัล กระทรวงเทคโนโลยีฯ ได้รับมอบหมายให้พิจารณาการอนุญาตดําเนินธุรกิจ – ธุรกรรมทรัพย์สินดิจิทัล และลงนามสัญญากับผู้ลงทุนในช่วงการทดลอง โดยรายรับจากการดําเนินธุรกิจดิจิทัล แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบอนุญาต (จ่ายครั้งเดียว) ภาษีเหมาจ่ายตามขนาด การใช้พลังงานไฟฟ้า (การใช้ไฟฟ้าทุก 10 เมกะวัตต์ จะต้องชําระภาษีจํานวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และปริมาณการใช้ไฟฟ้า (กิโลโวลต์)
ปัจจุบัน อนุมัติการทดลองธุรกรรมขุดค้นสกุลเงินดิจิทัลไปแล้วทั้งสิ้น 11 สัญญา โดยชําระค่าลิขสิทธิ์ให้รัฐบาจำนวน 10 สัญญา เป็นเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ บริษัท Wap Data Technology Laos ได้ชําระภาษีเหมาจ่าย งวดที่ 1 ปี 2565 จํานวน 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้รัฐบาล โดยคาดว่าจะส่งมอบภาษีเหมาจ่ายงวดที่ 2 จํานวนเดียวกันภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนบริษัทอื่น ๆ อยู่ระหว่างการเตรียมการขุดค้น คาดว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถชําระภาษีเหมาจ่ายให้รัฐบาลประมาณ 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ทั้งนี้ ศูนย์การซื้อ – ขายสกุลเงินดิจิทัล ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (BOL) ได้รับมอบหมายให้พิจารณาอนุมัติการดําเนินธุรกรรมในการซื้อ – ขายเงินคริปโตในช่วงทดลอง โดยรายรับจากการซื้อ – ขายเงินคริปโต แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อใบอนุญาต (จ่ายครั้งเดียว) และภาษีแบบเหมาจ่ายร้อยละ 15 ของค่าธรรมเนียมที่ศูนย์บริการซื้อขายเก็บจากผู้ซื้อขาย นอกจากนี้ สปป. ลาว ยังอนุญาตทดลองสร้างศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อ – ขายทรัพย์สินคริปโตและสกุลเงิน ดิจิทัล 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัลลาว (LDx) และศูนย์แลกเปลี่ยนทรัพย์สินคริปโต Bitqik โดยทั้ง 2 แห่งยังไม่ได้ชําระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ BOL เข้าตรวจสอบก่อนออกใบอนุมัติดําเนินกิจการ
อนึ่ง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 สปป. ลาว สามารถจัดเก็บรายรับได้ 10.63 ล้านล้านกีบ (ประมาณ 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 33.66 ของแผน และคิดเป็นร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเก็บรายได้จากการอนุญาตให้ทดลองขุดค้นและการเก็บค่าธรรมเนียมดําเนินการ ตลอดจนการเก็บค่าลิขสิทธิ์ดําเนินการ ศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายจะเป็นฐานรายได้ใหม่ (new revenue-based) ของ รบ. ที่จะช่วยฟื้นฟู ศก. ของ รบ. ลาวให้บรรลุ ตามแผน สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการแหล่งรายได้ของ สปป. ลาว ตามกรมคุ้มครองหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเทคโนโลยีฯ จะออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลและนิติบุคคลที่ดําเนินธุรกรรมขุดค้นสกุลเงินดิจิทัลขนาดเล็ก เนื่องจากยังมีกลุ่มคนจํานวนหนึ่งลักลอบขุดค้น ดังนั้น หากใช้พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ต้องชําระภาษีเหมาจ่าย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างฐานรายได้เข้าฝูงบประมาณของรัฐบาล
จากความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.75 สู่ระดับร้อยละ 1.5-1.75 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ และอาจส่งผลให้กระทบต่อ สปป. ลาวทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน การขาดแคลนเงินตรา การลงทุน รวมถึงส่งผลกระทบทางตรงต่อสกุลเงินดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกัน เงินทุนสามารถไหลเวียนไปมาได้ โดยในช่วงเงินเฟ้อสูงนักลงทุนหันมาถือครองเงินสกุลดิจิทัลที่ให้ผลตอบแทนสูง และป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อจากการถือครองเงินสดมากขึ้น ดังนั้น การที่ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทําให้การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่เป้าหมายหลักของนักลงทุนอีกต่อไป ส่งผลให้มีการถอนเงินออกจากตลาดเงินดิจิทัลจํานวนมาก