สตาร์ทอัพ (Startup) หรือ วิสาหกิจเริ่มต้น คือ การเริ่มต้นธุรกิจจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนให้ตรงจุด ด้วยเหตุนี้ ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและสามารถสร้างรายได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความความสำเร็จระดับโลก เช่น Facebook Instagram หรือ Line ในส่วนของประเทศไทยเอง มีธุรกิจสตาร์ทอัพที่โกยรายได้มหาศาลเช่นเดียวกัน ได้แก่ Flash express Ookbee QueQ และ Jitta อย่างไรก็ดี การเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพอาจไม่สวยหรูและน่าตื่นเต้นเช่นนั้น โดยจากการรายงานของ Worldwide Business Startup by Moya.k ปี 2562 พบว่า มีธุรกิจเกิดใหม่จำนวน 1.37 แสนรายต่อวัน ขณะเดียวกัน มีธุรกิจที่ล้มเหลวถึงร้อยละ 90 ของสตาร์ทอัพทั่วโลก โดยมีสาเหตุมาจากเรื่องเงินทุนที่ไม่เพียงพอ สินค้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ นโยบายการตลาดที่ผิดพลาด ฯลฯ
.
ฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เหมาะแก่การแสวงหาช่องทางเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายและไม่ซับซ้อน เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพทางธุรกิจสูง และเต็มไปด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น ทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก ระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นสากลพัฒนา มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมไปถึงความพร้อมด้านบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาต่าง ๆ กอปรกับจุดเด่นของตลาดที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกันอย่างลงตัว โดยฮ่องกงมีจุดแข็งของระบบ ‘One Country, Two Systems’ และโอกาสในการเชื่อมโยงกับตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านพื้นที่เขต Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area (GBA) ที่มีประชากรรวมกว่า 70 ล้านคน และมีมูลค่า GDP รวมกัน ถึง 11.9 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 48 ล้านล้านบาท) ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจในฮ่องกงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่หวังเติบโตในระดับสากล
.
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีแผนที่จะขยายระบบนิเวศด้านนวัตกรรมร่วมกับเมืองเซินเจิ้น โดยการพัฒนาโครงการ ‘อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Hong Kong – Shenzhen Innovation and Technology Park’ ในเขต Lok Ma Chau ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่นักวิจัยและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพฮ่องกงในการเข้าถึงตลาดและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของพื้นที่ GBA และจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ถือป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มองหาโอกาสในการเจาะตลาดจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดโลกต่อไป แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ แต่จำนวนสตาร์ทอัพในฮ่องกงยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นฟื้นตัวง่าย (resilience) ของระบบนิเวศด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพของฮ่องกง
.
ด้านการสนับสนุนจากรัฐบาลฮ่องกง พบว่า รัฐบาลกลางจีนแผ่นดินใหญ่ได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน ส่งผลให้ปีที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นได้จากการเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและการพัฒนา จากสัดส่วนเดิมที่ร้อยละ 0.73 ของ GDP เพิ่มเป็น ร้อยละ 1.5 ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยรัฐบาลฮ่องกงจัดสรรงบประมาณกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 4 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านการวิจัยและการพัฒนาดึงดูดกลุ่มผู้มีทักษะ (talents) ด้านวิทยาศาสตร์ ทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเสริมสร้างให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่นิยมในสังคม
.
ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้จัดตั้งและมอบหมายให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมภารกิจในการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานตัวอย่าง ดังนี้
.
(1) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (InvestHK) ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการต่างชาติที่ประสงค์จะจัดตั้งและขยายธุรกิจในฮ่องกง โดยมีส่วนงาน StartmeupHK คอยช่วยเหลือในด้านการให้คำปรึกษาการพัฒนาธุรกิจรวมถึงกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.startmeup.hk/
(2) องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council – HKTDC) ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในฮ่องกง โดยได้พัฒนาโครงการ ‘HKTDC Transformation Sandbox (T- box)’ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จดทะเบียนบริษัทภายใต้กฎหมายฮ่องกงในด้านต่าง ๆ เช่น การทำการตลาด การขยายธุรกิจในช่องทาง e-commerce การย้ายฐานการผลิต และการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ โดย T-Box จะจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับสมาชิก เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://smesupport.hktdc.com/en/s/tbox
(3) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong Science and Technology Park – HKSTP) หน่วยงานสำคัญในการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของฮ่องกง โดยมีบริษัทเทคโนโลยีในพื้นที่กว่า 1 พันราย จาก 23 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบริษัทยูนิคอร์น 3 บริษัทของฮ่องกง ได้แก่ Sensetime (ด้าน AI), Lalamove (ด้านโลจิสติกส์) และ SmartMore (ด้าน AI) โดย HKSTP สนับสนุนผู้ประกอบการตั้งแต่ขั้นริเริ่มพัฒนาธุรกิจจากผลงานวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ (pre-incubation) และทดสอบแผนการดำเนินธุรกิจ (soft landing) รวมทั้งมี Fin+Tech Collaboration Platform ช่วยพัฒนาผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintech) นอกจากนี้ HKSTP ยังมีบทบาทสําคัญในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน และร่วมลงทุนในโครงการธุรกิจที่เล็งเห็นถึงศักยภาพ ผ่านกองทุน Corporate Venture Fund (CVF) ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hkstp.org/innovate-with-us/investment-opportunities/entrepreneurs/
.
จากนโยบายข้างต้น นับว่าเป็นช่องทางที่มีประโยชน์สำหรับนักธุรกิจไทยที่กำลังวางแผนลงทุนในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างฮ่องกง-ไทย ที่กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มกำลัง โดยสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว ในการพัฒนาศักยภาพและขยายธุรกิจผ่านการใช้จุดแข็งของฮ่องกงเพื่อเข้าสู่ตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ และตลาดต่างประเทศทั่วโลกต่อไปได้
.
อ้างอิง :
สถานกงสุลใหญ่ ณ ฮ่องกง
https://www.hkcompanyregistration.com/blog/how-to-get-grants-for-startups-in-hong-kong/
https://www.mhesi.go.th/index.php/news-and-announce-all/news-all/669-291119.html
https://www.startmeup.hk/about-us/why-hong-kong/
https://research.hktdc.com/en/article/NjYwMTUyNDYy
https://www.investhk.gov.hk/en/setting-hong-kong.html
https://www.moyak.com/papers/business-startups-entrepreneurs.html