โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดปัญหากับห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องมาจากการหยุดชะงักของการขนส่งทางอากาศ ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าที่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศต่างได้รับผลกระทบ แม้มีการสั่งสินค้าเหมือนเดิมแต่ไม่สามารถขนส่งไปยังปลายทางได้ หรือการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก ทำให้มีช่องทางขนส่งสินค้าไปยังปลายทางที่ลดลง
.
ความพยายามในการแก้ไขการขนส่งระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญในการเชื่อมโยงและฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลก โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นประเทศที่มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนความเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเมืองดูไบที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตก จึงเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเล ทางอากาศ และทางบกของภูมิภาค
.
ศักยภาพของดูไบ
.
นอกจากจุดแข็งด้านที่ตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ดูไบยังมีความพร้อมด้านอื่นๆ ที่จะสนับสนุนศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก ทั้งในเรื่องการใช้งานระบบห่วงโซ่โลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) และนโยบายสนับสนุนการขยายความร่วมมือการทำการค้าเสรี (Free Trade Zone) การให้บริการเก็บภาษีจากผู้ส่งออกต้นทางในอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการรวมที่ถูกกว่าคู่แข่งขันในตลาด การสนับสนุนการส่งของกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (Re-Export) ไปยังอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี อิรัก และโอมาน เป็นต้น
.
โอกาสของสินค้าไทย
.
นโยบายด้านการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของดูไบมีความเกี่ยวข้องและเป็นโอกาสของไทยเมื่อพิจารณาว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 1,216,029.93 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของสัดส่วนการส่งออกสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ ดูไบยังเป็นตลาดกลางสำหรับสินค้าผักและผลไม้สำคัญ ของภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นจุดรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตร เช่น โอมาน อินเดีย และไทย เพื่อกระจายต่อไปสู่ประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคฯ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และนอกภูมิภาคฯ เช่น แอฟริกาเหนือ
.
ขณะที่ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลางยังความต้องการสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากเนื่องจากข้อจำกัดในศักยภาพด้านพื้นที่และต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่สูง รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาคตะวันออกกลางถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่จะสามารถเข้าถึงในตะวันออกกลางได้มากขึ้นผ่านการขนส่งทางดูไบ
.
นอกจากนี้ สินค้าฮาลาลก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านดูไบเช่นกัน โดยใช้ข้อได้เปรียบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เป็นประเทศมุสลิม และมีหน่วยงานให้บริการตรวจสอบและรับรองสินค้ามาตรฐานฮาลาลอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อไทยสามารถร่วมมือกับดูไบเพื่อให้ดูไบเป็นตัวกลางในการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลที่อยู่นอกเหนือจากมาตรฐานฮาลาลที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ให้การรับรอง อีกทั้งยังสามารถยกระดับความร่วมมือไปสู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานของสินค้าฮาลาลไทยในลักษณะ ‘ไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าฮาลาล และดูไบในฐานะผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อีกด้วย
.
ในอนาคต หากมีปริมาณการขนส่งผ่านดูไบเพิ่มขึ้นและสามารถขยายความร่วมมือเรื่องการรับรองมาตรฐานสินค้าได้ การขนส่งสินค้าผ่านทางดูไบจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปยุโรปมีต้นทุนในการขอรับรองมาตรฐานที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของธุรกิจ SMEs โดยดูไบสามารถเป็นตัวกลางในการทำหน้าที่ขอรับรองมาตรฐานแทนผู้ส่งออก และทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ได้ เช่น Global GAP ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดยุโรปมีต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วย
.
จากสถานการณ์ที่การขนส่งทางอากาศยังมีข้อจำกัดส่งผลให้ช่องทางการขนส่งสินค้าลดลงผู้ส่งออกสินค้าประสบปัญหาจากการขนส่งที่หยุดชะงัก ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งผ่านดูไบจะเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปประกอบการพิจารณาแผนธุรกิจสำหรับการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าขนส่งทางอากาศจากไทยไปยังทวีปยุโรปและแอฟริกาผ่านดูไบที่ไม่แตกต่างกับการเลือกใช้เที่ยวบินทางตรงมากนัก รวมทั้งระยะเวลาการขนส่งไม่ได้ทำให้เกิดความล่าช้าหรือมีขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารที่ยุ่งยาก อย่างที่เข้าใจ กอปรกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เส้นทางการขนส่งผ่านดูไบถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม