ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่างจีน (กว่างซี) กับเวียดนามมีหลากหลายทางเลือก นอกจากการขนส่งแบบดั้งเดิม ได้แก่ ทางเรือและทางรถบรรทุก ที่ผู้ค้านิยมใช้กันแล้ว การขนส่งสินค้าทาง “รถไฟ” ได้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เห็นได้จาก จำนวนเที่ยวขบวนรถไฟข้ามแดนจีน-เวียดนามที่ให้บริการมีการขยายตัวสูงถึง 422% (YoY) ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2563
[su_spacer]
“ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นจุดข้ามแดนของขบวนรถไฟเส้นทางดังกล่าว มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ที่สำคัญ ด่านแห่งนี้ยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟ” เพียงแห่งเดียวของประเทศจีน โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ณ เวลานั้น สามารถนำเข้าได้เฉพาะผลไม้เวียดนาม) และต่อมาได้รับการอนุมัติจาก GACC ให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม” รวมถึงผลไม้ไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 และมีการใช้ประโยชน์จริงแล้ว เป็นการพลิกโฉมการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
[su_spacer]
สำหรับการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าระหว่างประเทศ (นครหนานหนิง-กรุงฮานอย) ได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยช่วงแรกเป็นสินค้าเทกอง (Bulk) สินแร่ ไม้ซุง และเหล็กกล้า ปัจจุบัน ได้พัฒนาจนตัวสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น อุปกรณ์เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง รวมถึงผลไม้สด
[su_spacer]
เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกแล้ว การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่ง (ปริมาณการขนส่งเที่ยวละ 20-25 ตู้) ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันและแรงงานคนขับ ยิ่งในช่วงสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การขนส่งทางรถไฟช่วยลดความเสี่ยงจากคนขับที่หมุนเวียนเข้า-ออกด่านได้อย่างมาก การผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) ที่มีความรวดเร็ว การเลี่ยงความเสียหายจากการจราจรที่แออัดของรถบรรทุกที่ด่านทางบก รวมถึงการกระจายสินค้าในระยะไกลที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ
[su_spacer]
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเที่ยวรถไฟเวียดนาม-จีนในการลำเลียงสินค้าเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะการขนส่งระยะไกล (จีนมีโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ) สินค้าผ่านแดน ที่ด่านรถไฟผิงเสียงไม่ต้องเปลี่ยนหัวรถไฟและไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการขนส่งได้อย่างมาก
[su_spacer]
ผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (บึงกาฬ) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ซึ่งใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำหรับสินค้าทั่วไปสามารถลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอย
[su_spacer]
หลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ (ใช้เวลา 45 ชั่วโมง) กรุงปักกิ่ง (ใช้เวลา 70 ชั่วโมง) หรือไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) (ใช้เวลา 7-10 วัน ขณะที่ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)
[su_spacer]
การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียง แล้วเปลี่ยน(ยกตู้)ไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน
[su_spacer]
ที่มา
https://bit.ly/3axxWy4
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง