ที่ผ่านมามณฑลยูนนานนําเข้ายางพาราจากประเทศไทยผ่านการขนส่งทางแม่น้ำโขง โดยออกจากท่าเรือ เชียงแสน จ. เชียงราย ไปยังท่าเรือกวนเหล่ยในเขตฯ สิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน โดยการขนส่งทางเรือใน แม่น้ำโขง ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนการขนส่งที่ไม่สูงมากและสามารถขนส่งได้คราวละเป็นจํานวนมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มณฑลยูนนานนําเข้ายางพาราจากประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมากทำให้เริ่มมีการขนส่งผ่านถนนสาย R3A มากขึ้น
[su_spacer]
ในปี 2556 มณฑลยูนนานนําเข้ายางพาราจากประเทศไทยมูลค่ารวม 198.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดที่มณฑลยูนนานนําเข้าจากประเทศไทย ก่อนจะมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดในปี 2562 มูลค่าการนําเข้ายางพาราจากไทยของมณฑลยูนนานลดลงถึงหนึ่งในสี่จนเหลือเพียง 29.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสําคัญซึ่งส่งผลให้มณฑลยูนนานลดการนําเข้ายางพาราจากประเทศไทยมาจากการหันไปนําเข้ายางธรรมชาติจาก สปป. ลาวและเมียนมามากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการยางพาราของมณฑลยูนนานที่รัฐวิสาหกิจกลุ่มบริษัทหยุนเจียวของยูนนานเข้าไปลงทุนในลาวเป็นอย่างสูง รวมทั้งยังเป็นผู้ดําเนินโครงการส่งเสริมการปลูกพืช ทดแทนพืชเสพติดในภาคเหนือของเมียนมาอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2562 มณฑลยูนนานนําเข้ายางพาราจากลาวมูลค่า 256.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54.18 ของมูลค่าการนําเข้ายางพาราจากต่างประเทศทั้งหมดของมณฑลยูนนาน ขณะเดียวกันมณฑลยูนนานนําเข้ายางพาราจากเมียนมามูลค่า 187.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.45 ของมูลค่าการนําเข้ายางพาราจากต่างประเทศทั้งหมดของมณฑลยูนนาน โดยในภาพรวมมณฑลยูนนานจะนําเข้ายางธรรมชาติจาก สปป. ลาวและเมียนมาเป็นหลัก และนําเข้ายางสังเคราะห์จากประเทศไทย
[su_spacer]
มณฑลยูนนานยังคงมีความต้องการนําเข้ายางธรรมชาติในปริมาณมาก โดยเฉพาะจาก สปป. ลาวและเมียนมาที่รัฐวิสาหกิจของมณฑลได้เข้าไปลงทุนส่งเสริมการเพาะปลูกเนื่องจากผลผลิตภายในมณฑลไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มณฑลยูนนานยังประสบปัญหาความแห้งแล้งและโรคราแป้งในต้นยางพารา ส่งผลให้มีผลผลิตน้ำยางสดลดลงอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดส่งผลให้มณฑลยูนนานชะลอการนําเข้ายางพาราจากต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการหยุดการผลิตชั่วคราวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 มูลค่าการนําเข้ายางพาราจากต่างประเทศของมณฑลยูนนานลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 86.09 นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลยูนนานยังได้ยึดระยะเวลาการประกาศ “โควตาการเพาะปลูกพืชทดแทน” ซึ่งกําหนดกรอบเกณฑ์การดําเนินงานของบริษัทจีนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมณฑลยูนนานให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเพาะปลูกทดแทนพืชเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในแต่ละปีจะกําหนดปริมาณพื้นที่การเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดและปริมาณผลผลิตชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนําเข้ากลับมาในประเทศจีน โดยในขณะนี้ที่ รบ. มณฑลยูนนานยังไม่ประกาศโควตาดังกล่าว จึงทําให้บริษัทจีนที่เข้าไปลงทุนปลูกยางพาราในประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้โครงการนี้ยังไม่สามารถนําเข้าผลผลิตยางพารากลับมายังจีนได้ ทําให้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทแปรรูปยางพาราบางส่วนของมณฑลยูนนานต้องเปลี่ยนไปซื้อยางจากมณฑลอื่น โดยเฉพาะเมืองชิงต่าว ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลมณฑลยูนนานอาจจะประกาศโควตาการนําเข้ายางพาราภายใต้โครงการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติดในประเทศเพื่อนบ้านภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2563
[su_spacer]
จากการประมวลพัฒนาการและแนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราของมณฑลยูนนานแสดงให้เห็นถึงลักษณะของจีนที่พร้อมจะเข้ามาดําเนินการในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความจําเป็นต่อระบบเศรษฐกิจจีนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในด้านยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของมณฑลยูนนาน แต่ยางพาราไทยก็ประสบความท้าทายจากการหันมาทําการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract farming) ของมณฑลยูนนาน ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว รวมทั้งภายใต้โครงการส่งเสริมเพาะปลูกพืชทดแทนพืชเสพติดในเมียนมาซึ่งในอนาคตอันใกล้ การแลกเปลี่ยนสินค้าและโภคภัณฑ์มณฑลยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นไปอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอันเป็นผลจากความเชื่อมโยงในทุกมิติผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน – สปป. ลาว และโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
[su_spacer]
สําหรับผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพารา โดยเฉพาะหมอนและที่นอน ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่ได้รับ การยอมรับและมีศักยภาพในตลาดจีน ก็เริ่มปรากฏความท้าทายจากการหันมาเริ่มส่งเสริมพัฒนาการผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพาราของมณฑลยูนนานในเขตฯ สิบสองปันนา จากที่แต่เดิมมณฑลยูนนานสามารถผลิตและแปรรูปยางพาราเป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากเท่านั้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเริ่มมีบริษัทจีนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตหมอนและที่นอนยางพาราในประเทศไทยในลักษณะการผลิตเพื่อรองรับเครื่องหมายการค้าจีนที่ตั้งขึ้นมาเอง (OEM) ก่อนส่งกลับมาขายในจีน ดังนั้น ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของสินค้าไทยประเภทนี้จึงไม่จํากัดอยู่ที่ของลอกเลียนแบบหรือสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (made in Thailand) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าที่ผลิตสําหรับจีน (made for China) และสินค้าที่ผลิตโดยจีน (made by China) ซึ่งกําลังเป็นคู่แข่งสําคัญของสินค้าไทยประเภทนี้ในตลาดจีน
[su_spacer]