เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารเรื่อง Promoting American Seafood Competitiveness and Economic Growth ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการผลิตอาหารทะเลและการจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
มาตรการส่งเสริมเพื่อการทำประมงที่ยั่งยืนในสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯ และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่สหรัฐฯ นำเข้าอาหารทะเลถึงร้อยละ 85 ของปริมาณอาหารทะเลที่บริโภคในประเทศ โดยจะส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ ลดอุปสรรคด้านการค้า แก้ปัญหาการประมง IUU ปฏิบัติตามนโยบายอย่างโปร่งใสของรัฐบาล และลดขั้นตอนกฎระเบียบและขั้นตอนอนุญาตการทำประมงที่ยุ่งยาก โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย
[su_spacer]
- ส่งเสริมกระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพและสามารถคาดคะเนได้
- เร่งปฏิรูปกฎหมายส่งเสริมการทำประมงเพื่อการพาณิชย์
- เพิ่มข้อจำกัดในการนำเข้าอาหารทะเลที่ไม่ได้มาตรฐานสหรัฐฯ
- ส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านการประมง
- ในด้านการค้าอาหารทะเลกับต่างประเทศ สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นประธานร่วมของคณะทำงาน “Seafood Trade Task Force”ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร และกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ซึ่งคณะทำงานฯ จะต้องร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการขยายการค้าสินค้าประมงในต่างประเทศ การแก้ไขอุปสรรคทางเทคนิค และการเข้าถึงตลาดอย่างเป็นธรรม เพื่อเสนอสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน ต่อจากนั้นให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เสนอแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวต่อประธานาธิบดีทรัมป์ในอีก 90 วันถัดไป
[su_spacer]
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณรวม 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้กฎหมาย CARES Act เพื่อช่วยเหลือชาวประมงและธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในรัฐชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยรัฐที่ได้รับงบประมาณสูงสุดรัฐละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ รัฐอะแลสกาและรัฐวอชิงตัน
[su_spacer]