“ผมร่วง” หนึ่งในปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับคนวัยหนุ่มสาวทั้งชายและหญิงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสัญญาณของการมีผมบางหรืออาจถึงกับหัวล้าน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อบุคลิกภาพ
[su_spacer]
จีนเป็นประเทศที่มีคนประสบปัญหาผมร่วงสูงถึง 250 ล้านราย ส่วนใหญ่อยู่ใน 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 23 – 25 ปี และ 34 – 36 ปี ผู้ชายครองสัดส่วนมากที่สุดที่ 160 ล้านราย คิดเป็น 23% ของผู้ชายทั้งหมดในจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มมีปัญหาผมร่วงเมื่อเข้าสู่อายุ 30 ปี นอกจากนี้ ยังมีสถิติขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้บริโภค รุ่นใหม่ในจีนกำลังประสบกับปัญหาผมร่วงและผมบางอย่างหนัก โดยในคนจีนทุก ๆ 6 คน จะมีคนประสบกับปัญหาผมร่วง อย่างน้อย 1 คน และผลการวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีสุขภาพในเครือ Alibaba ชี้ว่า ปัญหาผมบางเริ่มเป็นปัญหามากขึ้น ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียดจากการเรียนและอาการนอนไม่หลับ คนจีนจึงหันมาใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผมในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้น 30% และคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจบำรุงและปลูกเส้นผมจะเติบโตถึง 260%
[su_spacer]
ในปี 2562 ตลาดปลูกผมในจีนมีมูลค่ามากกว่า 16,270 ล้านหยวน จากมูลค่าตลาด 4,000 ล้านหยวนในปี 2559 ขยายตัวถึง 4 เท่า ภายในระยะเพียง 3 ปี ซึ่งคนรุ่นใหม่ได้แสวงหาบริการเพื่อแก้ไขปัญหาหัวล้านและผมบางมากถึง 57.4% ในทางกลับกันคนที่เกิดในยุค 70s หรือคนที่มีอายุ 50-59 ปี มีเพียง 7.1% เท่านั้นที่แสวงการบริการ จึงถือได้ว่าคนรุ่นใหม่ คือ วัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดนี้ เนื่องจากคนเหล่านี้มีความกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเองมากกว่าวัยอื่น อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่สูงอีกด้วย โดยมณฑลที่กำลังมีผู้ประสบปัญหาหัวล้านมากที่สุด 5 อันดับในจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง กรุงปักกิ่ง มณฑลเจียงซู นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลซานตง
[su_spacer]
เมื่อพูดถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผมร่วงหรือผมบางนั้น จะครอบคลุมไปถึงแชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร และธุรกิจที่ให้บริการปลูกผม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด ย่อมไม่พ้นแชมพูป้องกันผมร่วง ซึ่งกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเมื่ออ้างอิงจากข้อมูลในปี 2561 พบว่ามูลค่าการค้าขายแชมพูป้องกันผมร่วงนั้น มีมูลค่าถึง 1.13 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.3% ปีต่อปี และคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของแชมพูประเภทนี้จะมีมูลค่าเกินกว่า 1.5 พันล้านหยวนภายในปี 2563 และกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่จะยังคงเป็นผู้บริโภคหลักต่อไป
[su_spacer]
แชมพูปลูกผมและแก้ปัญหาผมร่วงมียอดขายบน JD.com หรือบริษัทที่รู้จักกันในฐานะแพลตฟอร์ม E-commerce ยักษ์ใหญ่ของจีน เพิ่มขึ้นถึง 136% ในไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันปี 2560 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบำรุงผม ผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาผมร่วง และผลิตภัณฑ์ปลูกผมสามารถเข้ามาสู่ 40 อันดับสินค้าขายดีใน Taobao ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในด้าน E-commerce ของจีน โดยมากกว่า 40% ของลูกค้าที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทต่าง ๆ หันมาเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดโดยเจาะกลุ่มไปที่ผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นหลัก โดยแบรนด์แชมพูลดปัญหา ผมร่วงชื่อดังในจีนอย่าง ป้าหวัง (Bawang) เพิ่งจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้กับตัวการ์ตูน Bawang elf family ที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์ของบริษัทเพื่อดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังได้เปลี่ยนพรีเซ็นเตอร์ใหม่ จากนักแสดงอย่าง Jackie Chan เป็นนักร้องที่ชื่อ Mao Buyi ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เกิดยุค 90s เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของ แบรนด์นั้นดูเด็กยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถเจาะตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า นอกจากนี้นักวิเคราะห์การตลาด ยังเสริมอีกว่ากลุ่มธุรกิจแก้ปัญหาผมร่วงนั้นยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
[su_spacer]
จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจประเภทนี้ในจีน โดยแบรนด์แชมพูป้องกันผมร่วงที่มียอดขายสูงที่สุดในเยอรมนี อัลเปซิน (Alpecin) ได้บุกตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 30 แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Tmall JD.com หรือ Vipshop โดย Alpecin ทำยอดขายทุบสถิติ 60,000 ขวด ภายใน 24 ชั่วโมงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในวันคนโสด 11.11 และขณะนี้ทางบริษัทกำลังประสบปัญหาขาดตลาดชั่วคราวเนื่องจากความต้องการซื้อจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีจำนวนมาก
[su_spacer]
สำหรับบทความตอนต่อไป ทางศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ จะนำเสนอช่องทางการนำผลิตภัณฑ์แก้ไขปัญหาผมร่วง เข้าสู่ตลาดออนไลน์ในจีน รวมไปถึงกลยุทธ์และวิธีการสำหรับการเจาะกลุ่มเป้าหมายในจีนอีกด้วย
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง