มณฑลกุ้ยโจวตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ 176,200 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่กว่าร้อยละ 92.5 เป็นภูเขาและเนินเขา กุ้ยโจวมีประชากร 36 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว นอกเหนือจากชาวฮั่นซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของประเทศจีนแล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกถึง 17 ชาติพันธุ์ ด้วยองค์ประกอบเช่นนี้ จึงทำให้กุ้ยโจวเป็นมณฑลที่มีคนยากจน กล่าวคือ มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 2,300 หยวน ตลอดจนขนาดของพื้นที่ความยากจน และระดับความยากจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน โดยในปี 2554 กุ้ยโจวมีสัดส่วนประชากรที่ยากจนถึงร้อยละ 33 หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งมณฑล
[su_spacer]
ด้วยเหตุนี้ มณฑลกุ้ยโจวจึงเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายสร้าง “สังคมอยู่ดีกินดี” ภายในปี 2563 ตามนโยบายขจัดความยากจนระดับชาติของจีน ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2557-2561 กุ้ยโจวสามารถทำให้จำนวนประชากรยากจนลดลงจาก 9.23 ล้านคน เหลือเพียง 1.55 ล้านคน จากจำนวนดังกล่าว นับว่ามณฑลสามารถช่วยประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ปีละกว่า 1 ล้านคน ส่งผลให้อัตราความยากจนของกุ้ยโจวลดลงจากร้อยละ 26.8 เหลือเพียงร้อยละ 4.3 นับเป็นมณฑลที่สามารถลดจำนวนคนยากจนได้มากที่สุด จนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกเป็นผลงานดีเด่นด้านการลดความยากจนของจีน สำหรับปี 2562 กุ้ยโจวตั้งเป้าจะลดจำนวนคนยากจน 1.1 ล้านคน และในปี 2563 กุ้ยโจวจะ “กระชาก” ป้ายความยากจนที่ติดอยู่กับมณฑลมาอย่างยาวนานให้หลุดออกไป
[su_spacer]
ในการช่วยประชาชนให้พ้นจากความยากจน มณฑลกุ้ยโจวได้ดำเนินการหลายทางพร้อมกัน อาทิ การย้ายประชาชนออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืช ไม่มีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยง โดยความท้าทายประการสำคัญของกุ้ยโจว ได้แก่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเป็นภูเขาหรือทะเลทรายหิน ดังนั้น การอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ทุรกันดารไปตั้งรกรากใหม่ในพื้นที่ที่ดีกว่าจึงเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการกับความท้าทายข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มณฑลยังลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา รวมทั้งริเริ่มจัดตั้ง “ระบบคลาวด์ลดความยากจน” (Poverty Alleviation Cloud) ซึ่งประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) จัดเก็บข้อมูลประชาชนที่ยากจน และนำมาตรวจสอบเพื่อให้สามารถระบุตัวบุคคลที่อยู่ในภาวะยากจนแท้จริงได้อย่างถูกต้อง จากนั้น จึงนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุของความยากจนและแนวโน้มเพื่อดำเนินการบรรเทาความยากจนอย่างตรงจุดต่อไป
[su_spacer]
ที่สำคัญ มณฑลกุ้ยโจวยังส่งเสริมและสนับสนุนโมเดล “ความร่วมมือ” ระหว่างรัฐบาลมณฑลกับนักลงทุนทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ยากจนร่วมกัน โดยรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและสร้างรายได้แก่ชุมชนโดยตรง ทั้งด้วยการผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมการเกษตรวิถีอินทรีย์ (organic farming) รวมทั้งการทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์การเกษตรของกุ้ยโจวที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อบรรเทาความยากจนและประสบผลสำเร็จ ได้แก่ น้ำพริกเหล่ากานมา ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวจีนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และเป็นการส่งเสริมการใช้ผลผลิต “พริก” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตร 12 รายการที่กุ้ยโจวให้การส่งเสริม
[su_spacer]