หลังเปิดประเทศ จีนได้พัฒนาการคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างชนิดที่เรียกว่า “ผิดหูผิดตา” โดยในปี 2563 จะเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2559-2563) สำหรับการวางรากฐานคมนาคมให้มั่นคงแล้ว ดังนั้น เพื่อเดินหน้าระบบคมนาคมของจีนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น คณะรัฐมนตรีจีน (State Council) จึงได้ประกาศยุทธศาสตร์การคมนาคมของจีนออกมาใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2562 และได้เผยแพร่เอกสาร “ร่างการสร้างชาติให้มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็ง” (Outline for the Construction of Nation with a Strong Transportation System) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบคมนาคมของจีนช่วงปี 2564 ถึง 2593 ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
[su_spacer]
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 กระทรวงคมนาคมและขนส่งของจีนได้เปิดตัว “พื้นที่นำร่องเพื่อสร้างชาติให้มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็ง” ใน 13 มณฑล/เขต ได้แก่ เขตพัฒนาใหม่สงอานของมณฑลเหอเป่ย มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง มณฑลเหอหนาน มณฑลหูเป่ย เขตฯ กว่างซี เขตฯ ซินเจียง นครฉงชิ่ง เมืองเซินเจิ้น มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นไปตามโมเดลการพัฒนาของจีนที่เมื่อรัฐบาลกลางประกาศแผนโดยรวมแล้วก็จะให้พื้นที่ที่มีความได้เปรียบดำเนินการพัฒนานำร่องไปก่อน ก่อนนำแผนปฏิบัติที่เห็นผลจริงขยายไปทั่วประเทศต่อไป
[su_spacer]
นโยบายการพัฒนาระบบคมนาคมของจีนใน 30 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) การเชื่อมต่อและการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยแบ่งแผนพัฒนาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงปี 2564-2578 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ (1) เดินทาง 1 ชั่วโมงในเขตเมือง 2 ชั่วโมงระหว่างเมืองใกล้เคียง และ 3 ชั่วโมงระหว่างเมืองใหญ่ในประเทศ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสาร (2) จัดส่งสินค้าภายใน 1 วันทั่วประเทศจีน 2 วันสำหรับการจัดส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ 3 วันในเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งจะเอื้อต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีนที่กำลังเติบโตอย่างมาก และช่วงปี 2579-2593 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ ระบบคมนาคมของจีนมีคุณภาพและทันสมัยจนอยู่ในแนวหน้าของโลก
[su_spacer]
มณฑลหูหนานและพื้นที่นำร่องทั้งหมดจึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่วนกลาง คือ (1) จัดวางโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมต่อเครือข่ายคมนาคมที่หลากหลายทั้งระบบราง ถนน ทางน้ำ อากาศ ท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พัสดุไปรษณีย์ และสารสนเทศให้สมบูรณ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายคมนาคมในชนบทให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง (2) ยกระดับอุปกรณ์คมนาคมให้เป็นขั้นสูง (มีความอัจฉริยะ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และทันสมัย) ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และควบคุมได้ เช่น รถยนต์อัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ เรือเดินทะเลอัจฉริยะ ท่าอากาศยานอัจริยะ รถไฟที่รองรับน้ำหนักระดับ 30,000 ตัน รถไฟบรรทุกสินค้าที่ล้อและรางรองรับความเร็ว 250 กม./ชม. (3) ยกระดับการบริการการขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ผนวกด้านคมนาคมไว้ด้วยกัน เช่น การท่องเที่ยวทางรถไฟ ล่องเรือชมวิว ร่มร่อน (Paragliding) การท่องเที่ยวด้วยรถบ้านและขับรถท่องเที่ยวเอง (4) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีพลวัตสูงและชาญฉลาด โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า อินเตอร์เน็ตปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ผนวกเข้าไปในธุรกิจคมนาคม เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เช่น ระบบรถไฟแม็กเลฟความเร็ว 600 กม./ชม. ระบบรถไฟสำหรับผู้โดยสารความเร็ว 400 กม./ชม. และ Vacuum Tube Train (5) ยกระดับความปลอดภัยและการตอบสนองที่รวดเร็ว เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ (6) พัฒนาตามแนวทาง “สีเขียว” คาร์บอนต่ำ และประหยัดพลังงาน (7) สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก (8) พัฒนาบุคลากรด้านคมนาคมและขนส่งให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น (9) ปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการบริหาร เช่น ปฏิรูปหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด
[su_spacer]
นายจ้าว ผิง รองอธิบดีกรมคมนาคมขนส่งมณฑลหูหนาน กล่าวว่า จีนจะเปลี่ยนจากประเทศที่มีระบบคมนาคมขนาดใหญ่เป็นประเทศที่มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็งและทันสมัย จึงเป็นโอกาสของมณฑลหูหนานที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศในการยกระดับการพัฒนาระบบคมนาคมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุปกรณ์ขนส่ง และการบริการขนส่งที่ดี นอกจากนี้ หูหนานยังมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง โดยเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญทางภาคกลางของจีน การเป็นพื้นที่นำร่องจะทำให้หูหนานสนับสนุนยุทธศาสตร์ BRI ของประเทศในการเชื่อมโยงโลกกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และ Greater Bay Area ของจีน
[su_spacer]
ที่ผ่านมา มณฑลหูหนานมีการวางรากฐานการคมนาคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางถนน หูหนานมีทางหลวงเชื่อมโยงทั้งในเมืองและชนบทระยะทาง 240,000 กม. มากเป็นอันดับ 6 ของจีน และมีทางด่วนยาว 6,725 กม. ติดอันดับ 4 ของจีน พื้นที่ในระดับอำเภอที่มีอยู่ 122 แห่ง (ยกเว้นอำเภอสือเหมินเพียงอำเภอเดียว) สามารถเดินทางเพียงครึ่งชั่วโมงเพื่อใช้บริการทางด่วนได้ ทางน้ำ หูหนานมีท่าเรือเย่วหยางซึ่งเป็นท่าเรือภายในประเทศบนแม่น้ำแยงซีเกียงที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของจีน โดยในแต่ละปีมีการขนส่งสินค้าเข้าออกกว่า 100 ล้านตัน อากาศ มีท่าอากาศยาน 8 แห่ง จาก 14 เมืองของมณฑล และมีเที่ยวบินไปต่างประเทศ 57 เส้นทางใน 22 ประเทศ เช่น ลอสแอนเจลิส แฟรงค์เฟิร์ต ซิดนีย์ เมลเบิร์น มอสโก ลอนดอน และไนโรบี รวมถึงพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวฉางซาให้มีเครือข่ายเส้นทางบินในระยะ 4 ชั่วโมงเพื่อขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังหลายประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินไปยัง 14 ประเทศ/พื้นที่แล้ว เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึง 10 ประเทศในอาเซียน และมีแผนเพิ่มเที่ยวบินอีก 6 เส้นทางภายในปี 2564 ได้แก่ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล และมาเก๊า รถไฟ หูหนานมีระยะทางรถไฟที่สร้างเสร็จแล้ว 5,069 กม. โดยเป็นรถไฟความเร็วสูง 1,730 กม. สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน เกือบจะทุกเมืองของมณฑลมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน และยังเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางสำคัญ คือ รถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-ฉางซา-กว่างโจว และรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ฉางซา-เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ นครฉางซายังเป็นเมืองที่ 2 ของจีน (ต่อจากนครเซี่ยงไฮ้) ที่มีรถไฟแม็กเลฟให้บริการ ขณะเดียวกัน Hunan-Europe Railway Express ยังเป็นเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปที่มีศักยภาพ 1 ใน 5 เมืองของจีน ปัจจุบันมีขบวนเดินรถกว่า 10 เส้นทางในหลายประเทศ เช่น Hamburg (เยอรมนี) Tashkent (อุซเบกิสถาน) Moscow (รัสเซีย) Minsk (เบลารุส) Malaszewicze และ Warsaw (โปแลนด์) Budapest (ฮังการี) Teheran (อิหร่าน) และ Tiburg (เนเธอร์แลนด์)
[su_spacer]
ในด้านเทคโนโลยี เมืองจูโจวของมณฑลหูหนาน (อยู่ห่างจากนครฉางซาประมาณ 70 กม.) ได้ฉายาว่าเป็น “เมืองแห่งหัวรถจักรไฟฟ้า (electric locomotive) ของจีน” และเป็นแหล่งของบริษัทผลิตรถไฟและอุปกรณ์รถไฟที่ครบวงจรทั้งการวิจัย ผลิต จำหน่าย และบริการหลังการขาย รวมกว่า 400 บริษัท อุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรางของเมืองจูโจวมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านหยวนมาตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 125,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรางของจีน เมืองจูโจวยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัท CRRC Zhuzhou ที่มีสัดส่วนตลาดหัวรถจักรไฟฟ้าในประเทศถึงร้อยละ 60 และยังเป็นผู้พัฒนามอเตอร์ลากจูงแม่เหล็กถาวร (TQ-800 motor) ที่จะทำให้รถไฟความเร็วสูงมีความเร็วถึง 400 กม./ชม. เป็นผลสำเร็จเครื่องแรกของจีน และมอเตอร์เชิงเส้นสเตเตอร์แบบยาวที่เพิ่มความเร็วรถไฟแม็กเลฟให้สูงถึง 600 กม./ชม. อีกด้วย รวมไปถึงรถรางอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ซึ่งใช้ระบบเซ็นเซอร์นำทาง (ได้แก่ กล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์) และวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาว 2 เส้น หรือรางเสมือน (Virtual Track)
[su_spacer]
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากระบบราง หูหนานยังให้ความสำคัญกับการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ โดยได้ก่อสร้างพื้นที่ทดสอบยานยนต์เครือข่ายอัจฉริยะแห่งชาติ (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) ซึ่งมีสัญญาณ 5G ครอบคลุมเต็มพื้นที่ เพื่อให้บริการทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแก่องค์กรต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีบริษัทที่มีชื่อเสียงเข้ามาใช้บริการจำนวนไม่น้อย เช่น ความร่วมมือกับบริษัท Huawei เพื่ออาศัยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของ Huawei เช่น ระบบคลาวน์ และเทคโนโลยี C-V2X มายกระดับพื้นที่ทดสอบยานยนต์ เช่น เขตสาธิต 5G-V2X และการทดสอบแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Apollo) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Baidu กับบริษัทผลิตรถยนต์ Hongqi ของจีน รวมไปถึงบริษัท Alibaba, Jingdong, CRRC, FAW, Sany, CiDi (สถาบันการขับขี่อัจฉริยะนครฉางซา) และ Inceptio (บริษัทดำเนินงานเครือข่ายรถบรรทุกขับเคลื่อนอัจฉริยะ) ต่างนำรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ เช่น รถบรรทุก รถทำความสะอาดถนน เข้ามาทดลองในพื้นที่ทดสอบยานยนต์
[su_spacer]
นอกจากนี้ ในด้านบริการและความปลอดภัย หูหนานยังผลักดันให้เมืองต่าง ๆ ของมณฑลรวมถึงชนบทมีรถเมล์ 2 หยวนตลอดสายให้บริการเฉกเช่นเดียวกับในตัวเมืองของเมืองเอก (นครฉางซา) และอำนวยความสะดวกให้ชนบทมีรถบัสวิ่งบริการมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้รถบัสท่องเที่ยวและรถบัสข้ามอำเภอติดตั้งระบบติดตามและระบบตรวจสอบพฤติกรรมของพนักงานขับรถแบบเรียลไทม์
[su_spacer]
30 ปีที่แล้ว กว่าจะได้ตั๋วนั่งบนรถไฟสักหนึ่งที่นั่งถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับชาวจีนทั่วไป แต่ทุกวันนี้กลับสามารถเดินทางไปธุระหรือประชุมในเมืองที่ห่างออกไป 1,000 กม. ไป-กลับได้ภายในวันเดียว แถมยังสามารถเลือกวิธีการเดินทางว่าจะไปเครื่องบินหรือไปรถไฟความเร็วสูง และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งของมณฑลหูหนานจะชาญฉลาดมากขึ้น เชื่อมต่อกับระบบสื่อสาร 5G และเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) แบบไร้รอยต่อ ทำให้เกิดความสะดวก ความรวดเร็ว และประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของอุปกรณ์ขนส่งให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นควบคู่ไปกับนโยบาย “ลดมลพิษ ประหยัดพลังงาน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านคมนาคมระดับแนวหน้าของโลกในอนาคต
[su_spacer]