โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
ต่อจากบทความ Thai Festival 2019: Local Best, Global Taste OTOP ไทยแข็งแกร่งสู่ตลาดโลก ณ นครเซี่ยงไฮ้ (ตอนที่ 1) ที่ได้เกริ่นนำถึงความเป็นมาของโครงการนำผู้ประกอบการ OTOP ไทย
ในระดับล่างไปเรียนรู้ทิศทางการตลาดระดับโลกเพื่อกลับมาพัฒนาสินค้าของแต่ละชุมชนให้มีจุดเด่นมากยิ่งขึ้นนั้น ในบทความตอนจบนี้ เราจะมาเรียนรู้จากคุณภัทรี คงแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ OTOP ไทยจาก 8 จังหวัดที่ได้เดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
[su_spacer]
คุณภัทรี คงแก้ว ผู้แทนจากบริษัท สุราษฎร์ธานี โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ได้เดินทางมายังนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งบริษัทฯ ได้เดินทางมาในนามเทรดเดอร์ไทยแลนด์ โดยเทรดเดอร์ไทยแลนด์จะมีผู้ประกอบการจาก 76 จังหวัด แต่ละจังหวัดก็จะมีสินค้าเด่นที่แตกต่างกันไป ในครั้งนี้จังหวัดสุราษฎร์ธานีนำ “มะพร้าว” ซึ่งเป็นของดีของจังหวัดมาแปรรูปเป็น
[su_spacer]
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ครีมทาผิว ลิปบาล์ม สบู่ น้ำมันเช็ดเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น มาจำหน่ายในงาน ส่วนผู้ขาย (Trader) จากจังหวัดอื่น ๆ ก็จะมีสินค้า เช่น (1) จังหวัดนครนายกมีสินค้าทุเรียนทอดกรอบ ผงโปรตีนจิ้งหรีด โคมไฟไม้มะม่วงแกะสลัก โมบาย (2) จังหวัดอยุธยามีสินค้าเสื้อคลุมผ้าฝ้ายพิมพ์ลายไทย กระเป๋าหนังจระเข้ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งธรรมชาติ (3) จังหวัดตรังมีสินค้า สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร สบู่ไข่มุก กระเป๋ากะจูด ผ้าปาเต๊ะ เซรั่มบำรุงเส้นผม (4) จังหวัดอุดรธานีมีสินค้าข้าวเกรียบ ข้าวกล้องงอก งาดำ (5) จังหวัดเชียงใหม่มีสินค้ากล่องใส่ไม้จิ้มฟัน ปกพาสปอร์ต กระเป๋าใส่นามบัตร (6) จังหวัดยโสธรมีสินค้าข้าวกาบาผงพร้อมชงดื่ม ข้าวเกษตรอินทรีย์ และ (7) จังหวัดนนทบุรีมีสินค้าคุกกี้ทุเรียน ยาหอม ยาสีฟันสมุนไพร น้ำมันนวด เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ได้กระแสตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภคชาวจีน
[su_spacer]
สำหรับบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการร่วมงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ คุณภัทรีกล่าวว่า หากสินค้าที่นำไปจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจจะดูแปลกตาในสายตาผู้บริโภค เช่น อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบนอกพื้นที่ที่ชาวจีนไม่รู้จัก ผู้ประกอบการควรทำผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับทดลองชิมหรือทดลองใช้ก่อน ซึ่งการทำในลักษณะนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ไปถึงผู้บริโภคได้ไวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดรับและการตกลงซื้อสินค้า นอกจากนี้ ชาวจีนนิยมซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สดใสสวยงาม ดูน่าเชื่อถือ มองเห็นสินค้าภายในบรรจุภัณฑ์ได้ และสื่อสารความเป็นท้องถิ่นของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญต้องมีข้อมูลแสดงส่วนประกอบและสถานที่ผลิตสินค้าที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผลิตภัณฑ์ OTOP ในระดับล่างโดยส่วนใหญ่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม
[su_spacer]
ส่วนประเด็นด้านการเตรียมตัวมาร่วมงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ คุณภัทรีกล่าวว่า ภาษาจีนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเจรจาค้าขาย โดยแม้นครเซี่ยงไฮ้จะเป็นมหานครแห่งความเจริญของประเทศจีน แต่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการ OTOP เริ่มสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับผู้บริโภคชาวจีนหรือผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขาย (Trader) ด้วยกันแล้วก็อาจจะทำให้มีโอกาสขายได้น้อยลง ดังนั้น ควรตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นภาษาจีน มีคำบรรยายภาษาจีน มีราคาเป็นสกุลเงินหยวน และแบ่งการทำงานของแต่ละฝ่าย เช่น ล่ามฝ่ายขาย ฝ่ายสต๊อกสินค้า ฝ่ายรับเงิน เป็นต้น ให้เป็นระบบ นอกจากนี้ ชาวจีนในนครเซี่ยงไฮ้ใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการน้อยมาก ผู้ประกอบการจึงควรมีระบบ Alipay หรือ WeChat Pay หรือระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่พร้อมรองรับผู้บริโภคในทุกรูปแบบ
[su_spacer]
คุณภัทรีกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าสินค้า OTOP ของประเทศไทยจะซ้ำกันเองบ้างในบางจังหวัด รวมไปถึงซ้ำกับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าอาหารสำเร็จรูป เช่น กาแฟ ชา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละที่จะมีความแตกต่างซ่อนอยู่เสมอ สินค้า OTOP ภายในแต่ละจังหวัดจึงควรรวมกลุ่มกันหาอัตลักษณ์ของตนเองให้เจอและใส่เรื่องราวบางประการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มในสินค้า
[su_spacer]
อนึ่ง โครงการ Thai Festival 2019: Local Best, Global Taste ในครั้งนี้จัดขึ้นในงานเทศกาลไทย ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้เลือกจัดงานเทศกาลไทยในงาน Belt and Road Brand Expo 2019 ณ ศูนย์นิทรรศการนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Exhibition Center) ภายในงานฯ มีการออกร้านกว่า 200 ราย จากผู้ประกอบการ 45 ประเทศทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทย การจัดงานทั้ง 3 วัน ผู้ขาย (Trader) จาก 8 จังหวัดสามารถจำหน่ายสินค้า OTOP ของตนเองได้ยอดรวมทั้งสิ้น 1,769,800 หยวน (8,034,152 บาท) โดยแบ่งเป็นยอดขาย 266,100 หยวน (1,208,113 บาท) และยอดเจรจาทางธุรกิจ 1,503,700 หยวน (6,826,910 บาท) ซึ่งสินค้าทุกประเภทได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคในนครเซี่ยงไฮ้และผู้ประกอบการชาวจีนยังสนใจติดต่อเจรจาทางธุรกิจเพื่อนำสินค้าไทยไปทำตลาดในจีนด้วย งานในครั้งนี้จึงถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ OTOP ท่านใดสนใจเข้าร่วมงานในลักษณะดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กรมการพัฒนาชุมชนเสนอชื่อผู้ประกอบการเข้ามาก่อนเดินทางไปกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสหน้า
[su_spacer]
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ info@globthailand.com