นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน นำคณะภาครัฐและเอกชนไทย ประกอบด้วยบริษัทจากสาขาต่างๆ อาทิ อาหาร การเกษตร ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและความงาม การก่อสร้างและผลิตภัณฑ์สำหรับครัวเรือน สำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุนที่อิรัก ระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2567 โดยเอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่าการเยือนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการทูตเศรษฐกิจที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับอิรัก และเป็นโอกาสที่ดีของภาคเอกชนทั้งสองประเทศที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงการเปิดโอกาสไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศต่อไป
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เอกอัครราชทูตฯ นำคณะภาครัฐและเอกชนไทยพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลของอิรัก ดังนี้
(1) เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับ ดร. Hisham Al-Alawi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรัก โดย ดร. Hisham Al-Alawi กล่าวว่า ปัจจุบันอิรักมีศักยภาพรองรับการค้าและการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และซึ่งสองฝ่ายเห็นตรงกันเรื่องการผลักดันให้มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและอิรัก
(2) เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนาย Atheer Dawoud al-Ghurairy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอิรัก โดยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศผ่านแผนงานและกลไกต่างๆ อาทิ การประชุมคณะกรรมาธิการทางการค้าร่วมไทย-อิรัก การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน การเพิ่มมูลค่าการค้าขาย การขยายสาขาสินค้าผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย รวมถึงการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราให้แก่ภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย
(3) เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนาย Benkin Rekani รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้าง การเคหะ เทศบาล และสาธารณูปโภคแห่งอิรัก โดยนาย Benkin Rekani ได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนไทยพิจารณาดำเนินธุรกิจในอิรัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการและแผนงานของกระทรวงการก่อสร้างฯ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมและเคหะสถาน






ในบ่ายวันเดียวกัน เอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยนาย Heider Al-Husseini ประธานหอการค้าเมืองนาจาฟ ในนามสหพันธ์หอการค้าอิรัก ได้เป็นประธานร่วมเปิดกิจกรรม Business Networking ระหว่างภาคเอกชนไทยและอิรัก ณ โรงแรม Babylon Rotana กรุงแบกแดด โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมกว่า 120 ราย ซึ่งก่อนช่วงกิจกรรมดังกล่าว ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิรักได้เป็นวิทยากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบทางด้านการค้า ภาษี และระบบธนาคารของอิรัก พร้อมทั้งตอบข้อซักถามจากภาคเอกชนไทย นอกจากนี้ ในช่วงงานเลี้ยงอาหารค่ำ รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ให้การบรรยายเกี่ยวกับนโยบาย มาตรฐาน และยุทธศาสตร์ฮาลาลของไทยแก่ผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนอิรักได้รับฟัง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย















เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 เอกอัครราชทูตฯ พร้อมคณะภาครัฐและเอกชนไทยได้พบหารือผู้บริหารเครือบริษัท SAPCO บริษัทเอกชนรายใหญ่ของอิรัก ณ กรุงแบกแดด เพื่อหารือโอกาสความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ บริษัทในเครือของ SAPCO ได้หารือกับผู้ประกอบการของไทยในกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกันอีกด้วย
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ณ เมืองเออร์บิล เขตการปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะและรับฟังข้อมูลสำคัญด้านนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงของเขตปกครองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Regional Government-KRG) ดังนี้
(1) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Masrour Barzani นายกรัฐมนตรีแห่งเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การเกษตร การท่องเที่ยว การศึกษาและทางวิชาการที่จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน
โดยเอกอัครราชทูตฯ กล่าวหลังการเข้าพบว่า “เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (KRG) เป็นพื้นที่ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนค่อนข้างสูง เช่น นำเงินมาลงทุนในจำนวนที่กำหนดจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 10 ปี ภาคเอกชนไทยสามารถมองเคอร์ดิสถานเป็นฐานการผลิต หรือฐานการกระจายสินค้าไปทั่วอิรักได้ เนื่องจากเคอร์ดิสถานมีสนามบินนานาชาติ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เคอร์ดิสถานอยากชวนให้มาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เกษตร การท่องเที่ยว ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้ เคอร์ดิสถานมีความสนใจที่อยากให้มีการเปิดเที่ยวบินตรง และอยากให้ภาคเอกชนไทยมาศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะทางด้าน EV และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทั่วโลกรวมทั้งสหประชาชาติให้การยอมรับ”
(2) พบหารือกับนาย Fawzi Hariri ตำแหน่ง Chief of Staff ของประธานาธิบดีแห่งเคอร์ดิสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงแนวทางกระชับความร่วมมือและขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน โดยนาย Hariri เห็นว่าบริษัทของไทยที่ร่วมคณะในครั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความต้องการของภาคเอกชนและประชาชนชาวเคอร์ดิสถานและมีศักยภาพที่จะขยายการค้าในภูมิภาคนี้ได้
(3) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Safeen Dizayee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเคอร์ดิสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า การขยายโอกาสและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน
โดย นาย Safeen Dizayee ได้เผยกับคณะภาคเอกชนไทยว่า รัฐบาลเคอร์ดิสถานมีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาน้ำมัน โดยเคอร์ดิสถานพร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้จากไทย เนื่องจากการพัฒนาของไทยที่ผ่านมา และในฐานะที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเคอร์ดิสถานพร้อมที่จะเปิดรับแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ จากนานาชาติด้วย
(4) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Dana Abdulkareem รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้างและการเคหะ โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งเกี่ยวกับคณะภาครัฐและเอกชนไทยที่ไปเยือนเคอร์ดิสถาน ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบสาขาการก่อสร้าง เพื่อแสวงหาลู่ทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งรัฐมนตรี Abdulkareem ได้สรุปขอบข่ายงานและนโยบายภายใต้กระทรวงการก่อสร้างและการเคหะ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน การค้าและการลงทุน เช่น โครงการการยกระดับการคมนาคมให้ทันสมัยและสะดวก โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วย
(5) พบหารือกับนาย Mohammed Shukri ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเคอร์ดิสถาน โดยนาย Shukri ได้สรุปข้อมูลนโยบายและมาตรการต่างๆ ของเคอร์ดิสถาน ในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการลดภาษี และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งครอบคลุมสาขาด้านอาหาร การเกษตร การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา
(6) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Sarwar Kamal รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า ของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน มูลค่าการค้า และการขยายสาขาสินค้าผลิตภัณฑ์ไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้นในตลาดอิรัก รวมถึงในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานด้วย






เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เอกอัครราชทูตฯ และนาย Safeen Dizayee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Head of Department of Foreign Relations of the Kurdistan Regional Government -DFR) พร้อมกับนาย นาย Gailan Haji Saeed ประธานหอการค้าเมืองเออร์บิล และนาย Mohammed Shukri ประธานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เป็นประธานร่วมเปิด กิจกรรม Business Networking ระหว่างภาคเอกชนไทยกับเอกชนอิรักในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ณ โรงแรม Erbil Rotana เมืองเออร์บิลโดยกิจกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนของทั้งฝ่ายเข้าร่วมกว่า 150 ราย โดยนาย Safeen Dizayee ได้เข้าร่วมชมสินค้าและพูดคุยกับนักธุรกิจไทย พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลเคอร์ดิสถานพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่




นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะผู้บริหารจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบหารือกับศาสตราจารย์ ดร. Sultan T. Abu-Orabi Aladwan อธิการบดีมหาวิทยาลัย Tishk International University (TIU) เมืองเออร์บิล โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวแนะนำคณะและรองศาสตราจารย์ ดร. วินัยฯ ได้บรรยายสรุปถึงขอบข่ายงานและภารกิจของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลงานด้านต่างๆ ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ ซึ่งอธิบการบดี TIU แสดงความสนใจที่จะแสวงหาความร่วมมือด้านวิชาการกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ และมหาวิทยาลัยของไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และนักศึกษา หรือความร่วมมือในโครงการวิชาการอื่นๆ ที่สนใจร่วมกันอีกด้วย


ทั้งนี้ “การเตรียมการทั้งหมดเกี่ยวกับอิรักจะนำไปสู่พลวัตที่ดีเพื่อต้อนรับการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอิรัก ครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งหวังว่าเมื่อถึงช่วงเวลานั้นจะเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และตอนนี้ทั้งสองฝ่ายก็วางรากฐานสำคัญที่จะนำสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย”
นายสุภาค โปร่งธุระ : เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน กล่าว
“อิรัก” ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และเป็นประตูทางการค้าสู่อิหร่าน เนื่องจากสื่อสารภาษาเดียวกันและมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ขณะที่ภาคเอกชนของอิรักจำนวนมากยังส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศรวมทั้งไทย ไปยังประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางรวมถึงยุโรป อีกทั้ง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 เศรษฐกิจอิรักขยายตัวสูงถึง 7% และมีขนาด GDP อยู่ที่ 264,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.9 ล้านล้านบาท
โดยข้อมูลการค้าล่าสุดในปี 2565 อิรักเป็นคู่ค้าลำดับที่ 51 ของไทย โดยมีปริมาณการค้าระหว่างไทยกับอิรักมีมูลค่า 1,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายไทยส่งออกประมาณ 1,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเพียง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง :