เมื่อ 8 มกราคม 2566 จีนได้ปลดล็อกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจด่านทางบกของจีนคึกคักอีกครั้งรวมถึงด่านโหย่วอี้กวานในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นด่านที่มีปริมาณการค้าผลไม้กับอาเซียนมากที่สุดในจีน และยังเป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกผลไม้ไทยสู่จีน!
สำนักข่าวท้องถิ่น Guangxi Chinanews รายงานว่า ปริมาณรถสินค้าเข้า-ออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สร้างสถิติสูงสุดรายวันต่อเนื่อง เกือบถึงปริมาณเฉลี่ยวันละ 1,200-1,400 คัน-ครั้ง ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะปลายเดือนมีนาคม 2566 มีปริมาณการส่งสินค้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานขยายตัวมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นของใช้ประจำวัน สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล
การนำเข้าผลไม้จากอาเซียน หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว จะถูกลำเลียงต่อไปยังศูนย์ซื้อขายในเมืองผิงเสียงซึ่งเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าจากทั่วประเทศ เพื่อขนถ่ายสินค้าขนส่งต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ในจีน เช่นเดียวกับด่านท่าอากาศยานนานาชาติ อู๋ชวีหนานหนิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ทั้งทุเรียน มังคุด ชมพู่
ผู้ส่งออกไทยควรติดตามระบบการขนส่งและวางแผนเลือกใช้ช่องทางส่งออกผลไม้ไทยไปจีนให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงของผลไม้สดที่อาจติดค้างนอกด่านโหย่วอี้กวานได้ โดยกว่างซียังมีด่านอื่น ๆ ที่พร้อมรองรับการส่งออกผลไม้ไทย เช่น ด่านท่าเรือซินโจว ด่านทางบกกงชิง ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านสนามบินหนานหนิง โดยคาดว่าการค้าผลไม้จะมีการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะการแข่งขันราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรเตรียมความพร้อม เพราะผลไม้ที่ไทยเป็นเจ้าตลาดมานาน เช่น ทุเรียน มังคุด กำลังมีคู่แข่งมากขึ้น ดังนั้น ไทยควรพิจารณาพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยสูง ส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ที่หลากหลาย สร้างเรื่องราวให้กับสินค้า และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพจำสินค้าที่ดียิ่งขึ้น
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
แหล่งที่มา : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง