แรงผลักด้วยเทคโนโลยี (Technology Push) กับแรงดึงจากความต้องการของผู้ใช้งาน (User Demand Pull) ที่บรรจบกันเป็นผลให้เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น
นครหนานหนิงเล็งเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศที่จะทวีบทบาทสำคัญและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต สอดรับกับยุทธศาสตร์ของนครหนานหนิงที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ในปี 2564 จึงได้เริ่มโครงการ ‘นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน’ (China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park) ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2566
พิกัด : เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ทำความรู้จักกับ ‘นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน’ ในนครหนานหนิง เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้กรอบ China-ASEAN Information Harbor ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง
นิคมตั้งอยู่บนเนื้อที่ 33 ไร่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 2.23 แสนตารางเมตร ประกอบด้วย 9 อาคารหลัก เพื่อใช้เป็นสำนักงาน สถานที่วิจัย หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (Incubator) ที่พักอาศัยสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ประชุมและการพาณิชย์ และศูนย์อำนวยการ โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมบริการนำร่องและพิกัดดาวเทียม อุตสาหกรรมสารสนเทศเชิงนวัตกรรมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น ดาวเทียม ภูมิสารสนเทศ 5G และ AI สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น Smart City การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทะเลและฟาร์มปศุสัตว์ การพัฒนาแม่น้ำซีเจียง การเกษตรอัจฉริยะ และความมั่นคงชายแดน
ปัจจุบัน นิคมฯ มีเป้าหมายเป็น 6 ศูนย์กลาง ได้แก่
- ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล
- ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Information)
- ศูนย์กลางการวิจัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
- ศูนย์กลางการให้บริการระบบนำทางด้วยดาวเทียมเป๋ยโต่ว (BeiDou Navigation Satellite System)
- ศูนย์กลางการบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ (Talent)
- ศูนย์กลางนวัตกรรมร่วม (Collaborative Innovation Center)
โดยขณะนี้ มีองค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันวิจัยชั้นนำทยอยเข้าไปตั้งสำนักงานและดำเนินงานด้าน
ภูมิสารสนเทศ การสำรวจรังวัด การสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม Big Data และ AI เช่น บริษัท Feima Robotics ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอากาศยานไร้คนขับที่ใช้ในงานสำรวจระยะไกล โดยคาดว่าในปี 2567 จะดึงดูดองค์กรชั้นนำในห่วงโซ่อุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศได้ 260 ราย และมีมูลค่าการผลิตเกิน 1 หมื่นล้านหยวน
ในบริบทที่ประเทศไทยผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน จึงเป็นอีก platform ทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจและสตาร์ทอัพไทยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมใน ecosystem เช่น การลงทุนร่วม การร่วมพัฒนาทักษะบุคลากรด้านเทคโนโลยีดาวเทียม และดึงดูดให้องค์กรในกว่างซีมามีส่วนร่วมใน supply chain อุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศของไทย
ทั้งนี้ การสนับสนุนของภาครัฐจีน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาวิจัย นโยบายและสิทธิประโยชน์ และการให้บริการข้อมูลแบบเปิด ตลอดจนการลดข้อจำกัดการใช้งานจะช่วยสร้างโอกาสให้แก่สตาร์ทอัพไทย
ในการนำเครื่องมือและข้อมูลเชิงลึกที่มีประสิทธิภาพไปศึกษาต่อยอดและพัฒนา application และบริการต่าง ๆ ป้อนสู่ตลาดปลายน้ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลายระหว่างไทย จีน และอาเซียนต่อไป
_____________________________________
ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์