EV เป็นอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของจีน เนื่องด้วยจีนเป็นประเทศที่ผลิต บริโภค และส่งออกรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถ EV มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 กวางตุ้งเป็นมณฑลที่ผลิตและบริโภครถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นมณฑลที่มีธุรกิจ EV ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยเมื่อปี 2565 ปริมาณการผลิตรถยนต์ของมณฑลกวางตุ้งอยู่ที่ 4.1 ล้านคัน จัดเป็นอันดับที่ 1 ของจีนต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 ในจำนวนดังกล่าว ส่วนที่เป็นรถ EV อยู่ที่ 1.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 จากปี 2564 และคิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณการผลิตรถ EV ทั้งหมดของจีน
หากกล่าวถึงการจัดลำดับห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเธียมของจีน พบว่า แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของรถ EV โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนรถ EV จากรายงานของ Bloomberg New Energy Finance (BloombergNEF) เมื่อเดือน ธันวาคม ปีที่ผ่านมา เผยว่า จีนเป็นอันดับที่ 1 ของโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ในภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเธียม รวมถึงเป็นอันดับ 1 ในด้านวัตถุดิบแบตเตอรี่และการผลิตแบตเตอรี่
แนวโน้มการลงทุนของบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ของจีน
จากรายงานการจัดลำดับบริษัทผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ของโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยสถาบันวิจัยของเกาหลีใต้ SNE Research พบว่า บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถ EV 10 อันดับแรกของโลกมี บริษัท 6 แห่งมาจากจีน บริษัท CATL ได้จัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกในต่างประเทศ ณ เมือง Erfurt ของรัฐ Thuringen เยอรมนี โดยโรงงานดังกล่าวเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ได้ 185,000 – 350,000 คันต่อปี ด้านปัจจัยที่บริษัท EV จีนพิจารณาในการจัดตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- (1) ได้รับแรงจูงใจจากคำสั่งซื้อในต่างประเทศที่มีอยู่แล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงประเทศฐานการผลิตนั้นๆ มีเทคโนโลยีและความสามรถในการผลิตแบตเตอรี่
- (2) ระยะความใกล้กับธุรกิจต้นน้ำในประเทศเจ้าบ้าน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง เช่น วัตถุดิบและส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่
- (3) ต้นทุนการก่อสร้างและการตั้งโรงงาน เช่น นโยบายบริษัทสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ต้นทุนการเช่าที่ดิน และต้นทุนค่าไฟในท้องถิ่น
- (4) ความยากง่ายในการประสานงานกับบริษัทท้องถิ่น
- (5) การแข่งขันของตลาดในท้องถิ่น เช่น ฐานการผลิตในอาเซียน อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
แนวโน้มการลงทุนอื่น ๆ เช่น เทรนด์การพัฒนาพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ บริษัท EV จีนส่งออกผลิตภัณฑ์สีเขียวและคาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การยกระดับชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท EV จีนต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ความท้าทายของอุตสาหกรรม EV ของจีน
ความท้าทายของอุตสาหกรรม EV จีนในต่างประเทศ บริษัท EV จีนยังคงเผชิญกับอุปสรรคทางนโยบายของรัฐบาลจีน ตลอดจนเงื่อนไข/ขั้นตอนในการขออนุมัติจัดตั้งโรงงานในต่างประเทศ รวมถึงเงื่อนไขที่เข้มงวดด้านการใช้พลังงาน การปล่อยคาร์บอน และการรีไซเคิลของประเทศฐานการผลิต เช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) ของสหรัฐฯ กฎหมายแบตเตอรี่ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป กฎหมายวัตถุดิบที่สำคัญ (Critical Raw Materials Act) ของยุโรป และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)
โอกาสของไทยในอุตสาหกรรม EV
ไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศจำหน่ายรถยนต์มากเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน การดึงดูดการลงทุนของบริษัท EV จีนในไทยและการส่งเสริมความร่วมมือแบบ win-win สอดคล้องกับ นโยบาย ‘30-30’ ของไทยและเป้าหมายการเป็นศูนย์ EV ในภูมิภาค สำหรับบริษัทรถ EV จีน การเข้ามาลงทุนในไทยจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV ของจีนในภูมิภาค ล่าสุด บริษัทรถ EV จีนที่ได้ทยอยเข้ามาขยายกิจการในไทยแล้ว เช่น บริษัท MG และ บริษัท BYD นอกจากนี้ บริษัท CATL ของจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับเทคโนโลยี EV ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ EV ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ผลักดันให้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสากรรม EV ในระดับภูมิภาค
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์